วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

ขอบข่ายเนื้อหา






สังเวชนียสถาน
สังเวชนียสถาน (อ่านว่า สัง-เว-ชะ-นี-ยะ-สะ-ถาน) แปลว่า สถานที่อันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช เป็นคำที่ใช้เรียกสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ
สังเวชนียสถาน หมายถึงสถานที่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกระลึกถึงพระพุทธเจ้า เกิดความแช่มชื่น เบิกบาน เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดี เมื่อได้ไปพบเห็น
สังเวชนียสถาน มี 4 แห่ง คือ
สังเวชนียสถาน 4 แห่งนี้ ท่านว่าเป็นสถานที่ควรไปเคารพสักการะ ควรไปแสวงบุญ เพื่อให้เกิดความสังเวชและเกิดพุทธานุสติ อันจักนำมาซึ่งบุญกุศลและความปลาบปลื้มแช่มชื่นใจ จากเนื้อความในมหาปรินิพพานสูตร แสดงให้เห็นว่าสังเวชนียสถานทั้งสี่นี้ได้เกิดขึ้นโดยคำแนะนำของพระพุทธองค์ ที่ได้ตรัสว่า ผู้ใดระลึกถึงพระองค์ พึงจาริกไปยังสังเวชนียสถานทั้งสี่นี้



ลุมพินีวัน (อักษรโรมัน: Lumbini Vana) เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญแห่งที่ 1 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล เป็นพุทธสังเวชนียสถาน 4 ตำบลเพียงแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศอินเดีย ลุมพินีวัน เดิมเป็นสวนป่าสาธารณะหรือวโนทยานที่ร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน ในสมัยพุทธกาลลุมพินีวันตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ ในแคว้นสักกะ บนฝั่งแม่น้ำโรหิณี หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชได้โปรดให้สร้างเสาหินขนาดใหญ่มาปักไว้ตรงบริเวณที่ประสูติ เรียกว่า เสาอโศก ที่จารึกข้อความเป็นอักษรพราหมีว่าพระพุทธเจ้าประสูติที่ตรงนี้


 



 พุทธคยา (บาลี: พุทฺธคยา, อังกฤษ: Bodh Gaya, Mahabodhi Temple, ฮินดี: बोधगया) คือคำเรียกกลุ่มพุทธสถานสำคัญใน อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุด 1 ใน 4 แห่ง ของชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธสังเวชนียสถานที่มีความสำคัญที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก ปัจจุบันบริเวณพุทธศาสนสถานอันเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดมหาโพธิ อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู








 สารนาถ เป็นพุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ 3 (1 ใน 4 แห่งของชาวพุทธ) ตั้งห่างจากเมืองพาราณสี เมืองศูนย์กลางทางศาสนาของศาสนาฮินดู ไปทางเหนือราวเก้ากิโลเมตร อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน หรือ แคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล
เหตุที่ได้ชื่อว่าสารนาถ เนื่องมาจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา เริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งแก่มหาชนทั้งหลาย และบ้างก็ว่ามาจากศัพท์ว่า สารงฺค + นารถ = ที่อยู่ของสัตว์จำพวกกวาง  สารนาถยังรู้จักกันดีในชื่อ "อิสิปตนมฤคทายวัน" หรือ "ฤๅษีปัตนมฤคทายวัน" (บาลี: อิสิปตนมิคทายวน) แปลว่า ป่าอันยกให้แก่หมู่กวาง และเป็นที่ชุมนุมฤๅษี
ภายในอาณาบริเวณสารนาถมี ธรรมเมกขสถูป เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด สันนิษฐานว่าบริเวณที่ตั้งของธรรมเมกขสถูป เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาประกาศพระสัจธรรมเป็นครั้งแรกที่นี่


 




 









กุสินารา หรือ กุศินคร (ฮินดี: कुशीनगर, อูรดู: کُشی نگر, อังกฤษ: Kusinaga, Kushinagar) เป็นที่ตั้งของสังเวชนียสถานแห่งที่ 4 ในสมัยพุทธกาลเป็นเมืองเอกหนึ่งในสองของแคว้นมัลละ อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำคู่กับเมือง ปาวา เป็นที่ตั้งของ สาลวโนทยาน หรือป่าไม้สาละที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานและเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า
กุสินาราจัดเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญแห่งที่ 4 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร หรือกาเซีย หรือกาสยา (Kushinaga; Kasia; Kasaya) ในเขตจังหวัดเทวริยา (Devria; Devriya) รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สาลวโนทาย สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถากุนวะระกาโกฎ (Matha-Kunwar-Ka-Kot) ซึ่งแปลว่า ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ ปรากฏตามคัมภีร์ว่า เมืองนี้เคยเป็นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ เป็นที่เกิดบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์หลายครั้ง เคยเป็นราชธานีนามว่ากุสาวดี ของพระเจ้ามหาสุทัสสนจักรพรรดิ์
ปัจจุบันกุสินารา มีอนุสรณ์สถานที่สำคัญคือสถูปใหญ่ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วิหารปรินิพพานซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพานอยู่ภายในและมีซากศาสนสถานโบราณโดยรอบมากมาย



 พระมูลคันธกุฏี
บนยอดเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์


เขาคิชฌกูฏ แปลกันว่า เขาหัวแร้งพระมูลคันธกุฏี” บนยอดเขาคิชฌกูฏ เป็นสถานที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธเจ้า ในพรรษาที่ ๓, , ๗ และพรรษาสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน

เขาคิชฌกูฏอยู่ในบริเวณของแคว้นมคธ เป็นหนึ่งใน ๕ เบญจคีรีนคร เพราะแคว้นมคธล้อมรอบด้วยเขา ๕ ลูก ดังนั้น แคว้นมคธจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า คิริวราชา เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา ๕ ลูก ล้อมรอบทุกด้าน ภูเขาทั้ง ๕ คือ ๑. เวภาระ ๒. ปัณฑวะ ๓. เวปุลละ ๔. อิสิคิริ ๕. คิชฌกูฏ

ในคัมภีร์มหาภารตะ เรียกชื่อภูเขาทั้ง ๕ ต่างกับคัมภีร์บาลี คือ ๑. ไวภาระ ๒. วลาหะ ๓. วฤศภะ ๔. ฤาษีคิริ ๕. ไชตยากะ ปัจจุบันชาวอินเดียเรียกดังนี้ ๑. ไวภาระ ๒. วิปุลละ ๓. รัตนะ ๔. ฉหัตถะ ๕. ไสละ

ปัจจุบันเขาคิชฌกูฏอยู่ทางทิศใต้ในเขตตำบลราชคีร์ (Rajgir) จังหวัดนาลันทา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ใช้เวลาเดินทางไม่มากนัก ก่อนเดินทางไปถึงเขาคิชฌกูฏ จะผ่านสถานที่สำคัญ ๒ แห่ง คือ (๑) ชีวกัมพวัน หรือพระอารามสวนมะม่วง และ (๒) เรือนคุมขังพระเจ้าพิมพิสาร

ราชคฤห์เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล (ปัจจุบันคือจังหวัดนาลันทา รัฐพิหาร) เป็นอาณาจักรที่เข้มแข็งและมีอิทธิพลมากแห่งหนึ่ง เป็นเมืองสำหรับการแสวงบุญของชนชาวพุทธ พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ในเมืองนี้หลายครั้ง การกระทำปฐมสังคายนาก็ทำที่เมืองนี้ ปัจจุบันเมืองราชคฤห์ยังมีซากปรักหักพังของโบราณสถานให้เห็นอยู่ เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญในอดีตให้ศึกษากัน เบญจคีรีนครเป็นทิวเขา ๕ ลูก แลดูสวยงามและตระหง่านอยู่ล้อมรอบเมืองราชคฤห์ คือ อิสิคิรี บัณฑวะ คิชฌกูฏ เวภาระ และเวปลละ

ระหว่างทางไปเขาคิชฌกูฏ จะเห็นชีวกัมพวัน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในพระพุทธศาสนา หมอชีวก หรือหมอชีวกโกมารภัจจ์” ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแพทย์ประจำราชสำนัก หมอชีวกเป็นบุตรของนางสาลวตี ซึ่งเป็นหญิงนครโสเภณีประจำกรุงราชคฤห์ เมื่อนางคลอดลูกออกมาเป็นชาย ก็ได้นำไปทิ้งยังกองขยะ ต่อมา อภัยราชกุมารไปพบเข้า จึงเก็บนำไปเลี้ยงไว้ในวัง และให้ไปศึกษาวิชาแพทย์ที่เมืองตักสิลา นครหลวงแห่งแคว้นคันธาระ เมื่อจบออกมาก็เป็นหมอใหญ่ที่มีชื่อเสียงมาก

เขาคิชฌกูฏเป็นภูเขาที่เอียงลาดยาวขึ้นไป ทางขึ้นไม่ลำบาก เมื่อจวนจะถึงยอดเขาก็จะเห็นบริเวณที่พระเทวทัตคิดทำร้ายพระพุทธเจ้า โดยพระเทวทัตแอบขึ้นไปบนยอดเขาคิชฌกูฏ แล้วงัดก้อนหินใหญ่ลงมา หวังจะปลงพระชนม์พระบรมศาสดา ในขณะเสด็จขึ้นจะไปประทับที่กุฏิวิหารของพระองค์บนยอดเขา แต่ก็ไม่อาจทำอันตรายพระบรมศาสดาได้ เป็นแต่เพียงสะเก็ดหินได้กระเด็นไปกระทบพระบาทจนห้อพระโลหิต นายแพทย์ใหญ่ชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำพระองค์พระพุทธเจ้า ก็ถวายการปฐมพยาบาลพระองค์ในครั้งกระนั้น

บนยอดเขาคิชฌกูฏเป็นลานกว้างพอสมควร มีอิฐปรักหักพังลักษณะสี่เหลี่ยมเป็นแนวอยู่ เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า และกุฏิวิหารสำหรับพระภิกษุสงฆ์อีกหลายท่าน ทิวเขารอบๆ ใหญ่โต ห่างไกลเสียงอึกทึกครึกโครมของตัวเมือง คิชฌกูฏเป็นสถานที่เงียบสงัดเหมาะสำหรับจิตพึงให้อยู่ในความสงบ ทั้งอากาศและบรรยากาศเป็นที่โน้มน้าวจิตใจให้ใสสะอาดได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงมักเสด็จมาประทับที่นี่เสมอ



พระมูลคันธกุฏี บนยอดเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์
สถานที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธเจ้าในพรรษาที่ ๓, ,
และพรรษาสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน



บำเพ็ญทุกกรกิริยา


 พระพุทธองค์ทรงค้นคว้าหาทางตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยวิธีการต่างๆ โดยบำเพ็ญเพียรทาง ทุกกรกิริยา ทรมานกายให้ลำบากอย่างยิ่ง เริ่มแต่ทรงขบฟันด้วยฟัน อัดเพดานปากด้วยลิ้น ผ่อนลมหายใจเข้าออกให้เหลือน้อยๆ แล้วกลั้นลมหายใจนานๆ จนตัวร้อนเป็นไฟเหงื่อไหลย้อย หัวใจสวิงสวาย ทรงเสวยพระกระยาหารแต่น้อยจนถึงไม่เสวยเลย ในที่สุดพระวรกายก็ซูบผอมได้รับความลำบากอย่างยิ่ง จวนเจียนพระชนม์จะแตกสลาย นับว่าเป็นความเพียรอย่างยิ่ง ยากที่นักพรตใดๆ จะทำได้ แต่ก็หาสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณไม่ เพราะทุกกรกิริยาไม่ใช่ทางแห่งการตรัสรู้
จึงมาทรงดำริเห็นว่า อันความเพียรนั้น ถ้าย่อหย่อนก็เสียผลทีหลัง ถ้าตึงเครียดนักก็มักพลาด ต่อเมื่อเดินทางสายกลางพอดีๆ ทั้งกายและใจจึงจะเกิดผล ดุจพิณสามสาย ถ้าหย่อนนักมักไม่ดัง ถ้าตึงนักก็ขาด แต่พอดีๆ จึงจะมีเสียงนิ่มนวลพอฟังได้ (ตำราประวัติพระพุทธเจ้าบางเล่มก็กล่าวว่า ช่วงที่พระองค์กำลังทรมานพระวรกายอยู่จนถึงที่สุดนั้น มีเทวดาเสด็จลงมาทรงพิณสามสาย ซึ่งได้ตั้งสายพิณไว้ 3 ระดับ คือตึงเกินไป เล่นได้สักครู่สายพิณก็ขาด ตั้งสายพิณหย่อนเกินไป เสียงเพลงก็ไม่ไพเราะ และสุดท้ายตั้งสายพิณปานกลาง ปรากฏว่ามีความไพเราะจับใจ)
พระองค์ทรงเห็นแล้วขณะนี้ว่า ได้เคยเสวยสุขในทางกามคุณมาก็มากปฏิบัติทางทุกกรกิริยาก็มาเต็มที่แล้ว ทั้งสองนี้ จะไม่ทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุจุดหมายปลายทางได้เลย ทางที่ถูกต้องเป็นทางสายกลาง (หรือที่รู้จักกันในการเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา) ตั้งมั่นลงในศีล สมาธิ ปัญญา รู้แจ้งในอริยสัจจธรรม เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด จึงจะเข้าถึงญาณแห่งความหลุดพ้น (วิมุตติอริยมัคคญาณ)ได้ในที่สุด พระองค์จึงเปลี่ยนความตั้งใจเดิม เลิกทุกรกิริยาทรมานตนเอง กลับใจเสวยพระกระยาหารเพื่อบำรุงพระวรกายอย่างแต่ก่อน
ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าเสียใจ พากันหลีกไป ทรงตรัสเล่าภายหลังว่า "ครั้นตถาคตกลืนกินอาหารหยาบ คือ ข้าวสุกและขนมสดแล้วปัญจวัคคีย์ทั้งห้ารูป พากันหน่าย ในเรา พากันหลีกไปด้วยคิดว่า พระสมณโคดมเป็นคนมักมาก คลายความเพียรเสียแล้ว"
พระองค์ทรงปริวิตกว่า อะไรหนอคือหนทางที่จะทำให้หลุดพ้นออกจากความทุกข์ อันมี ชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ (โสกะ แปลว่า ความโศก ปริเทวะ แปลว่า ความคร่ำครวญ ความรำพัน) เป็นต้น เสียได้ ทรงพิจารณาสืบสาวไปหาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้พบว่า เพราะชาตินี่เองมีอยู่ ความแก่ ความตาย เป็นต้น จึงได้มีตามมา คือถ้าคนไม่เกิดเสียอย่างเดียว ความทุกข์ทั้งหลายก็ไม่มี ทรงค้นหาสาเหตุเรื่อยไปๆ จนพบลูกโซ่คือ เหตุปัจจัยต่างๆ กันว่า เพราะชาติมีอยู่ ชรา มรณะ เป็นต้น จึงได้มีเพราะภพมีอยู่ จึงทำให้มีชาติและต่อๆ ไป คือ อุปาทาน (ความยึดมั่น)-ตัณหา-เวทนา-ผัสสะ..ฯลฯ จนถึงอวิชชา* เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร**
ทรงพิจารณากลับอีกทีหนึ่ง ก็เห็นว่าเมื่ออวิชชายังมีอยู่ สังขารจึงมี เมื่อสังขารมีอยู่ วิญญาณจึงมี และ…ฯลฯ จนถึง ชาติ ชรา มรณะ คือ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงเหล่านี้ ย่อมมีขึ้นอย่างนี้เอง ทรงกล่าวว่า "ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง (หมายถึงทรงรู้จริงเห็นแจ้ง) ได้บังเกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ทั้งหมดเป็นฝ่ายข้างเกิด คือทำให้ ชาติ ชรา มรณะ เกิดขึ้น" แล้วตรัสถึงฝ่ายข้างดับต่อไปเป็นลำดับ สรุปลงในที่สุดว่า "จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้บังเกิดแก่เราในธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า นี้เป็นฝ่ายข้างดับ คือ การเกิดขึ้น จะไม่มีอีกแล้ว ดังนี้"
พุทธภาษิตนี้แสดงว่า ที่พระองค์ได้ตรัสรู้อภิสัมโพธิญาณในเวลาต่อมา ก็เพราะพิจารณาจนเห็นแจ้งแทงตลอดทั้งฝ่ายทำให้เกิด และฝ่ายทำให้ดับนี้เอง ได้ทรงค้นคว้าเหตุปัจจัยของความทุกข์ ครั้นเมื่อพบเหตุปัจจัยนั้นเข้าด้วยอำนาจแห่งพระปัญญาความตรัสรู้จึงเกิดขึ้น



แม่น้ำเนรัญชรา





แม่น้ำเนรัญชรา เป็นแม่น้ำที่สำคัญในพุทธประวัติ ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า "ลิลาจัน" มาจากคำสันสกฤตว่า "ไนยรัญจนะ" แปลว่า แม่น้ำที่มีสีใสสะอาด และเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญทางพุทธประวัติคือในอดีตกาลนั้น ขณะที่พระพุทธองค์บำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ที่เขาดงคสิริ ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม อยู่ไม่ห่างไกลกับบ้านนางสุชาดา ซึ่งเป็นธิดาของคหบดีผู้มั่งคั่งในตำบลนั้น มีบ้านอยู่บนเนินเขา อยู่ริมฝั่งทางทิศตะวันออกของแม่น้ำเนรัญชรา ภิกษุทั้ง รูปคือ ปัญจวัคคีย์ ก็คอยเฝ้าปฏิบัติบำรุง หวังไว้ว่าเมื่อตรัสรู้แล้วจะได้แสดงธรรมโปรดตนต่อมาพระสิทธัตถะทรงพิจารณาเห็นชัดว่า ทุกรกิริยาไม่ใช่ทางแห่งการตรัสรู้แน่นอนจึงกลับเสวยพระกระยาหารตามเดิม แล้วหันมาบำเพ็ญเพียรทางจิต ปัญจวัคคีย์เห็นเช่นนั้นเลยเข้าใจว่า พระองค์คงจะละความเพียรพยายาม หมดหวังในการตรัสรู้ จึงพากันละทิ้งพระองค์ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันแขวงเมืองพาราณสี  นอกจากนี้แม่น้ำเนรัญชรายังเป็นที่สัณนิษฐานว่า นางสุชาดาได้นำข้าวมธุปายาส ใส่ถาดทองคำจนเต็มไปถวายพระพุทธองค์ ซึ่งประทับอยู่ที่โคน ต้นไทรหันพระพักตร์ทางทิศตะวันออก พระสิทธัตถะได้เสวยจนหมด แล้วทรงถือถาดลงไปสู่แม่น้ำอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า "ถ้าหากข้าพเจ้าจะได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณขอให้ถาดนั้นจงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป" ด้วยอานุภาพบารมีของพระองค์ ถาดทองคำก็ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป ประมาณ 1 เส้น แล้วจมลงในเส้นดิ่งตรงกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ตรัสรู้ซึ่งอยู่บนฝั่งทางทิศตะวันตก




เสวยวิมุตติสุข


หลังจากตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ประทับเสวยวิมุตติสุข (คือการพบสุขที่เกิดเพราะความหลุดพ้น จากกิเลส) อยู่ในที่ ๗ แห่งๆ ละ ๗ วัน ดังนี้
สัปดาห์แรก
ประทับนั่งสมาธิที่วัชรอาสน์ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ๗ วัน พระพุทธองค์ได้กำหนดนึกในใจ เพื่อพิจารณาทบทวนเรื่องราว โดยตามลำดับ ตลอดปฐมยามแห่งราตรีนั้น แล้วทรงเปล่งอุทานว่า "ในการใดแล ธรรมทั้งหลาย มาปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ผู้นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะมารู้แจ้งธรรมพร้อมด้วยเหตุ"
ในเวลากลางคืน ทรงพิจารณาทบทวนปฏิจจสมุปบาท แบบย้อนตามลำดับ คือพิจารณาจากปลายมาจุดเริ่มแรกแล้วมีพุทธอุทานว่า "ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้แจ้งความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย"
ในปัจฉิมยาม ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาททั้งตามลำดับและ ย้อนตามลำดับแล้วมีพุทธอุทานขึ้นว่า "ในกาลใดแลธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้นพราหมณ์ผู้นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์กำจัดมืดส่องแสงสว่างอยู่ในอากาศ ฉะนั้น"
สัปดาห์ที่สอง
อนิมิสเจดีย์-ทรงพระดำเนินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อได้ระยะพอควรกับการทอดพระเนตร ก็ทรงหันกลับพระพักตร์มายืนพิจารณาต้นโพธิ์ที่ได้ตรัสรู้นั้น ทรงลืมพระเนตรโดยมิได้กระพริบเลยตลอดสัปดาห์ เพื่อทบทวนความทรงจำต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วโดยลำดับ ความหมุนเวียนผันแปรอันเกิดขึ้นตามอำนาจของสังขารจักรก็มาหยุดลงแค่นี้ ต้นมหาโพธิ์ต้นนี้เป็นที่ให้กำเนิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสัจจธรรมอันบริสุทธิ์ สามารถชำระล้างกิเลสนานาชนิดของสัตว์โลกได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ ทรงพอพระทัยในการตรัสรู้นี้เป็นอย่างยิ่ง สถานที่นี้จึงเรียกว่า อนิมิสเจดีย์
สัปดาห์ที่สาม
เสด็จมาเดินจงกรมอยู่ ๗ วัน ตรงระหว่างกลางแห่งอนิมิสเจดีย์กับต้นศรีมหาโพธิ์ ทางด้านเหนือของวิหาร ที่ตรงนั้นเขาก่อฐานปูนสูงขึ้นประมาณ ๔ ฟุต จากพื้นถนน แล้วสลักหินเป็นรูปดอกบัวโตพอประมาณ ๑๙ ดอก แสดงว่าเป็นทางเดินจงกรมของพระพุทธองค์เรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์
สัปดาห์ที่สี่
เทวดาเนรมิตเรือนแก้วขึ้นทางทิศเหนือของต้นโพธิ์ เสด็จนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิธรรมปิฎกสิ้นเจ็ดวัน สถานที่นี้เรียกว่ารัตนฆรเจดีย์
สัปดาห์ที่ห้า
เสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชราไปยังต้นไทรอชปาลนิโครธ ประทับอยู่เจ็ดวันขณะเสวยวิมุตติสุขอยู่ ธิดาพญามารสามตน คือ ราคะ อรตี และตัณหา ได้อาสาพ่อเข้าไปประเล้าประโลมด้วยเสน่ห์กามคุณต่างๆ นานา พระองค์กลับไล่ไปเสียแสดงถึงบุคลิกลักษณะอันประเสริฐของผู้ชนะตนได้แล้ว จะไม่ยอมกลับเป็นผู้แพ้อีก
สัปดาห์ที่หก
ทรงเสด็จเสวยวิมุตติสุขที่สระมุจลินท์ (มุจลินท์เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ไม้จิก ปัจจุบันทั้งสระน้ำมุจลินท์และต้นมุจลินท์ไม่มีให้เห็นแล้ว มีแต่สระมุจลินท์จำลองที่สร้างไว้ใกล้ๆ อาณาบริเวณวิหารพุทธคยา ทั้งนี้ เพื่อกันลืมสระดั้งเดิม) และเพราะต้นมุจลินท์ขึ้นอยู่ริมสระแห่งนั้นจึงมีชื่อว่า สระมุจลินท์ เมื่อพระองค์ประทับเสวยวิมุตติสุขได้ ๗ วัน ที่ใต้ต้นอชปาลนิโครธแล้ว ได้เสด็จมาประทับที่ใต้ต้นจิกริมสระนี้ ตอนนั้นเกิดฝนตกหนักเจือด้วยลมหนาว ฝนตกพรำอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน ร้อนถึงพญานาคซึ่งอาศัยอยู่ในสระนี้ ขึ้นมาขดตัวเจ็ดรอบแลแผ่พังพานเพื่อจะป้องกันฝนและลมมิให้ถูกพระวรกาย (นี้เป็นกำเนิดของพระพุทธรูปางนาคปรก) ครั้นฝนหายแล้วก็คลายขนดออก จำแลงเพศเป็นชายหนุ่มมายืนเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์พระองค์ ได้ทรงเปล่งอุทานเป็นภาษิตที่ไพเราะจับใจดังนี้
"ความสงบสงัดเป็นสุขสำหรับบุคคลผู้ได้เจริญธรรมแล้วยินดีอยู่ในสงัด ทำให้ได้ตามรู้ตามเห็นสังขารทั้งปวงตามความเป็นจริง ทำให้สำรวมระวังตัว เลิกการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย และสิ้นความกำหนัด คือความล่วงกามคุณทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง ความละคลายการถือตน ถือว่ามีตัวมีตนให้หมดได้ เป็นความสุขอย่างยิ่ง"
สัปดาห์ที่เจ็ด
ราชายตนเสด็จประทับที่ร่มต้นไม้เกตนี้ เป็นสัปดาห์สุดท้ายหลังจากตรัสรู้แล้วและได้ทรงอดอาหารมาเป็นเวลา ๔๙ วัน  ณ ที่ราชายตนะนี้เอง ได้มีนายพานิชสองคนเป็นชาวพม่าผ่านมา ชื่อตปุสสะ และภัลลิกะ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภายใต้ต้นไม้เกต มีพระรัศมีอันผ่องใสงดงามยิ่งนัก ก็บังเกิดความเลื่อมใส จึงนำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ซึ่งเป็นเสบียงเดินทางของตน แล้วประกาศตนเป็นอุบาสกคู่แรกของพระพุทธศาสนา และทูลขอของที่ระลึกจากพระองค์เพื่อเอาไปบูชา พระองค์ทรงรับด้วยบาตรที่ท้าวจตุมหาราชทั้งสี่นำมาถวาย ซึ่งทรงอธิษฐานให้รวมเข้าเป็นใบเดียวกัน (ในทางประวัติศาสตร์ พม่าได้ไปมาค้าขายกับอินเดียมาช้านานแล้ว พอออกพรรษาน้ำหยุดท่วมนอง ชาวพม่าจะบรรทุกของใส่เกวียนมาแลกสินค้ากับอินเดีย กลับไปกลับมาอยู่เป็นประจำ)
พระพุทธองค์เสวยข้าวสัตตุแล้ว ทรงอนุโมทนาในความศรัทธาของ ตปุสสะกับภัลลิกะ และทรงลูบพระเกศา (ผม) พระเกศาตกลงมา ๘ เส้น มอบให้พ่อค้าทั้งสองไปเป็นการสนองความศรัทธาของเขา ชาวพม่าทั้งสองนี้ได้นำพระเกศา ๘ เส้นนั้น กลับไปเมืองย่างกุ้ง พอถึงพม่าได้มีพิธีสมโภชเส้นพระเกศานี้หลายวันหลายคืน และได้จัดสร้างพระเจดีย์ชะเวดากอง บรรจุพระเกศาธาตุ มาจนถึงตราบเท่าทุกวันนี้


วัดเวฬุวันมหาวิหาร
















วัดเวฬุวันมหาวิหาร หรือ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เป็นอาราม (วัด) แห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต บนริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดีซึ่งมีตโปธาราม (บ่อน้ำร้อนโบราณ) คั่นอยู่ระหว่างกลาง นอกเขตกำแพงเมืองเก่าราชคฤห์ (อดีตเมืองหลวงของแคว้นมคธ) รัฐพิหาร ประเทศอินเดียในปัจจุบัน (หรือ แคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล)

คำว่า เวฬุวัน แปลว่าสวนไผ่ เดิมอารามแห่งนี้เป็นพระราชอุทยานของพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แคว้นมคธ ตั้งอยู่นอกเมืองราชคฤห์ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วได้เสด็จไปยังเมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยข้าราชบริพารเข้าไปเฝ้า หลังจากทรงสดับธรรมแล้วทรงเลื่อมใสจึงถวายสวนเวฬุวันเป็นพุทธบูชา ด้วยทรงเห็นว่าเป็นที่สงบร่มรื่น เหมาะสำหรับอยู่บำเพ็ญธรรมของพระสงฆ์ ถือกันต่อมาว่าสถานที่นี้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา เรียกว่า วัดเวฬุวันมหาวิหาร นอกจากนี้วัดนี้ยังเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระสาวกจำนวน 1,250 รูป แล้วส่งไปเป็นพระธรรมทูตประกาศพระศาสนา อันเป็นที่มาของวันมาฆบูชา

วัดเวฬุวันในสมัยพุทธกาล


เดิมวัดเวฬุวันเป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จประพาสของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นสวนป่าไผ่ร่มรื่นมีรั้วรอบและกำแพงเข้าออก เวฬุวันมีอีกชื่อหนึ่งปรากฏในพระสูตรว่า "พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน" หรือ "เวฬุวันกลันทกนิวาป" (สวนป่าไผ่สถานที่สำหรับให้เหยื่อแก่กระแต)  พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายพระราชอุทยานแห่งนี้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาหลังจากได้สดับพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถาและจตุราริยสัจจ์ ณ พระราชอุทยานลัฏฐิวัน (พระราชอุทยานสวนตาลหนุ่ม) โดยในครั้งนั้นพระองค์ได้บรรลุพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา และหลังจากการถวายกลันทกนิวาปสถานไม่นาน อารามแห่งนี้ก็ได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระสงฆ์ประชุมจาตุรงคสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา อันเป็นเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา


 
มหาวิทยาลัยนาลันทา
มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของโลก







นาลันทามีความสำคัญมาแต่ครั้งพุทธกาล เห็นได้จากกรณีที่พระสารีบุตรบันลือสีหนาท ประกาศความเลื่อมใสของตนในอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่น ซึ่งจะมี ปัญญาในทางพระสัมมาสัมโพธิญาณ ยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า
เนื่องจากพระสารีบุตรต้องการประกาศความเลื่อมใสของตนในเมืองนาลันทาเพราะว่าเมืองนาลันทาเป็นศูนย์การศึกษาแม้ในครั้งพุทธกาล เป็นศูนย์รวม นักปราชญ์นักวิชาการ พระสารีบุตรซึ่งเป็นเลิศทางด้านปัญญาประสงค์ จะประกาศให้เหล่านักวิชาการแห่งนาลันทา รับรู้ความยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมโพธิญาณของพระผู้มีพระพุทธเจ้า
หลักฐานที่แสดงถึงความสำคัญ ของนาลันทาอีกอย่างหนึ่ง คือ การที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพรหมชาลสูตร ประกาศทิฏฐิ ๖๒ และทรงแสดงเกวัฏฏสูตร แสดงภาวะนิพพานซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนา ทิฏฐิ 62 เป็นประเด็นที่เจ้าลัทธิต่างๆ อภิปรายกันไม่รู้จบ เพราะเป็นประเด็นเชิงอภิปรัชญา ไม่มีใครรู้จริง แต่อภิปรายกันตามความคิดเห็น พระพุทธองค์ทรงแสดงให้บรรดาเจ้าลัทธิรู้ว่า วัตถุประสงค์และประโยชน์ของทิฏฐิเหล่านี้คืออะไร มีขอบเขตเพียงไร อานิสงส์ที่เกิดจากการแสดงพระสูตรทั้ง 2 นี้มี 2 ระดับ คือ
1.      ระดับวิชาการ พระพุทธองค์ทรงประกาศให้รู้ว่า อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณครอบคลุมภูมิปัญญาทุกระดับ ทิฏฐิ 62 ซึ่งเป็นเรื่องเชิงวิชาการ เป็นปรัชญา พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้ง แต่ไม่ประสงค์จะอภิปรายตอบข้อสงสัย เพราะไม่มีประโยชน์ และจะกลายเป็นประเด็นให้เจ้าลัทธินำไปกล่าวอ้างในที่ต่างๆ ว่า พระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้ อย่างนี้
2.      ระดับอุดมการณ์ พระพุทธองค์ทรงประกาศภาวะยิ่งใหญ่แห่งนิพพานว่า เป็นที่ดับสนิทของมหาภูตรูป เป็นที่ดับสนิทแห่งนาม ภาวะที่เรียกว่านิพพาน นี่แหละคืออุดมการณ์สูงสุดแห่งการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา



แหล่งรวมรูปภาพ