วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560

114 วิชา เบญจศีล-เบญจธรรม ธรรมศึกษาชั้นตรี




คำปรารมภ์

มนุษย์ผู้เกิดมาในโลกนี้  มีรูปพรรณสัณฐานที่เลือกตามใจหวังไม่ได้แล้วแต่เหตุจะแต่งมา  ให้เป็นผู้มีรูปร่างงามบ้าง  เลวทรามบ้างต่าง ๆ กัน  ผู้ใดมีรูปงามก็เป็นที่นิยมชมชื่นของผู้ที่ได้เห็น  เป็นดุจดอกไม้ที่มีสีสัณฐานงาม  ผู้ใดมีรูปเลวทรามก็ไม่เป็นที่ชวนดูของผู้แลเห็น  เช่นกับดอกไม้มีสีสัณฐานไม่งาม  รูปงามมีประโยชน์เพียงให้เขาชมว่าสวย  ไม่เป็นคุณอะไรอีก  ถ้าดอกไม้มีทั้งสีสัณฐานก็งามทั้งกลิ่นก็หอม  ย่อมเป็นที่พอใจรักใคร่ของประชุมชน  ถ้ามีแต่สีและสัณฐานงาม  แต่หากกลิ่นหอมมิได้  จะสู้ดอกไม้ซึ่งมีกลิ่นหอม  แม้มีสัณฐานไม่งาม  ก็ไม่ได้  ถ้ามีกลิ่นเหม็นก็ยิ่งซ้ำร้าย  ถึงจะมีสัณฐานงาม  ก็ไม่เป็นที่ปรารถนาของใคร ๆ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด  คนผู้มีรูปร่างงดงามมีใจดี  ย่อมเป็นที่นิยมนับถือของประชุมชน ถึงจะมีรูปร่างงาม  แต่ปราศจากคุณธรรมในใจ  จะสู้คนที่ประกอบด้วยคุณธรรม  แม้มีรูปร่างเลวทราม  ก็ไม่ได้  ถ้ามีใจร้ายกาจ  ก็ยิ่งซ้ำร้าย  ไม่มีใครพอใจจะสมาคม  ถึงจะมีรูปร่างงามสักปานใด  ก็ช่วยแก้ไขไม่ได้  ข้อนี้มีอุปไมยฉันนั้น 
รูปพรรณสัณฐานของมนุษย์เป็นมาอย่างใด  ก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น  จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้  ส่วนใจนั้นก็มักเป็นไปตามพื้นเดิม  ถึงอย่างนั้นก็ยังมีทางแก้ไขให้ดีได้ด้วยความตั้งใจอันดี  จงดูตัวอย่างของที่ไม่หอมมาแต่เดิมเขายังอบให้หอมได้ แต่ธรรมดาใจนั้นมักผันแปรไม่แน่ไม่นอนมั่นคงลงได้ นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น  ผู้สั่งสอนให้คนตั้งอยู่ในคุณธรรม  จึงได้กำหนดวางแบบแผนแห่งความประพฤติไว้เป็นหลักฐาน
การตั้งใจประพฤติตามบัญญัตินั้น  ชื่อว่าศีล ๆ  นั้นเป็นบรรทัดสำหรับให้คนประพฤติความดีให้คงที่  เปรียบเหมือนผู้แรกจะเขียนหนังสือ  ต้องอาศัยเส้นบรรทัดเป็นหลักเขียนไปตามนั้น  หนังสือที่เขียนจึงจะมีบรรทัดอันตรง  ถ้าหาไม่ตัวก็จะคดขึ้นคดลงดังงูเลื้อย  เมื่อชำนาญแล้ว  ก็เขียนไปได้  ไม่ต้องมีบรรทัดฉันใด  คนแรกจะประพฤติความดี  ไม่ได้ถืออะไรเป็นหลัก  ใจไม่มั่นคงอาจเอนเอียงลงหาทุจริตแม้เพราะโมหะครอบงำ  เมื่อบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์จนเป็นปกติ มารยาทได้แล้ว  จึงจะประพฤติคุณธรรมอย่างอื่น  ก็มักยั่งยืนไม่ผันแปร  ข้อนี้แลเป็นประโยชน์แห่งการบัญญัติศีลขึ้น
ความเบียดเบียนกันในโลก  ซึ่งเป็นไปโดยกายทวารย่นลงเป็น ๓ ประการ คือ  เบียดเบียนชีวิตร่างกายประการหนึ่ง  เบียดเบียนทรัพย์สมบัติ ประการหนึ่ง เบียดเบียนประเวณี คือทำเชื้อสายของผู้อื่นให้ผิดลำดับสับสนประการหนึ่ง และความประพฤติเสียด้วยวาจา  มีมุสาวาทกล่าวคำเท็จเป็นที่ตั้ง
คนจะประพฤติดังนั้นก็เพราะความประมาท และความประมาทนั้น ไม่มีมูลอื่นจะสำคัญยิ่งกว่าดื่มน้ำเมา  ซึ่งทำให้ความคิดวิปริตลงทันที  เหตุนั้นนักปราชญ์ทั้งหลาย  มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานเล็งเห็นเหตุการณ์ดังนี้  จึงปัญญัติศีลมีองค์ ๕  คือ
๑.  เว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิต
๒.  เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการเป็นโจร
๓.  เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
.  เว้นจากกล่าวคำเท็จ
.  เว้นจากการดื่มน้ำเมา  คือสุราและเมรัย
องค์แห่งศีลอย่างหนึ่ง ๆ เรียกว่า สิกขาบท  ศีลมีองค์    จึงเป็นสิกขาบท ๕  ประการ  รวมเรียกว่าเบญจศีล ๆ นี้ท่านบัญญัติขึ้นโดยถูกต้องตามคลองธรรม ด้วยคิดจะให้เป็นประโยชน์แก่กันและกันจึงได้ชื่อว่าเป็นบัญญัติอันชอบธรรม  เป็นคำสอนมีอยู่ในศาสนาที่ดี
เบญจศีลนี้มีกัลยาณธรรมเป็นคู่กัน แสดงไว้ในพระบาลีที่สรรเสริญความประพฤติของกัลยาณชนว่า เป็นคนมีศีลมีกัลยาณธรรม  ดังนี้  กัลยาณธรรมในที่นี้  ได้แก่ความประพฤติที่เป็นส่วนดีงาม  มีเครื่องอุดหนุนศีลให้ย่อใสยิ่งขึ้น  ได้ในสิกขาบททั้ง    นี้เอง
๑.  เมตตากรุณา  ได้ในสิกขาบทที่ต้น
๒.  สัมมาอาชีวะ  หมั่นประกอบการเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ  ได้ในสิกขาบทที่ 
.  ความสำรวมในกาม  ได้ในสิกขาบทที่ 
.  มีความสัตย์  ได้ในสิกขาบทที่ 
.  ความมีสติรอบคอบ  ได้ในสิกขาบทคำรบ 
เมื่อจัดวิภาค  ศีลได้แก่กิริยาที่เว้นตามข้อห้าม  กัลยาณธรรม  ได้แก่ประพฤติธรรมที่ชอบ  มีเป็นคู่กันมาฉะนี้
ในที่นี้  จะยกคุณ ๒ ข้อนี้ตั้งเป็นกระทู้ และพรรณนาความไปตามลำดับดังต่อไปนี้

เบญจศีล
ในสิกขาบทที่    แก้ด้วยข้อห้าม ๓ ประการ  คือการฆ่า ๑ การทำร้ายร่างกาย ๑ การ  ทรกรรมสัตว์ให้ลำบาก    เพื่อสมแก่เหตุแห่งบัญญัติสิกขาบทนี้ขึ้น  ด้วยเพ่งเมตตาจิตเป็นใหญ่
ในสิกขาบทที่  ๒ แก้ด้วยข้อห้าม ๓ ประการ  คือ  โจรกรรมประพฤติเป็นโจร    ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม  อันเป็นอุบายอุดหนุนโจรกรรม ๑ กิริยาเป็นฉายาโจรกรรมประพฤติเคลือบแฝง  เป็นอาการแห่งโจร    เพื่อสมแก่เหตุแห่งบัญญัติสิกขาบทนี้ขึ้น  ด้วยเพ่งความประพฤติชอบธรรมในทรัพย์สมบัติของผู้อื่นเป็นใหญ่
ในสิกขาบทที่ ๓  แก้ด้วยข้อห้ามไม่ให้ประพฤติผิดในกามทั้งฝ่ายชายฝ่ายหญิง และประพฤติผิดธรรมดา เพื่อสมแก่เหตุแห่งบัญญัติสิกขาบทนี้ขึ้น  ด้วยเพ่งความประพฤติไม่ผิดประเวณีเป็นใหญ่
ในสิกขาบทที่    แก้ด้วยข้อห้าม ๓ ประการ  คือ  มุสา  กล่าวคำเท็จ    อนุโลมมุสา  กล่าววาจาที่เป็นตามมุสา ๑  ปฏิสสวะ  รับแล้วไม่ทำตามรับ ๑ เพื่อสมแก่เหตุแห่งบัญญัติสิกขาบทนี้ขึ้น  ด้วยเพ่งความสัตย์เป็นใหญ่
ในสิกขาบทคำรบ    แก้ด้วยข้อห้าม    ประการ  คือ  ดื่มน้ำเมk  คือสุราและเมรัย    เสพฝิ่น  กัญชา  และของเมาอย่างอื่นอีก    เพื่อสมแก่เหตุแห่งบัญญัติสิกขาบทนี้ขึ้น  ด้วยเพ่งจะไม่ให้เสียความสำราญและความดี

วิรัติ
ในบทนี้  แก้ด้วยวิรัติ  คือความละเว้นข้อห้าม    ประการ  คือ สัมปัตตวิรัติ  ความเว้นจากวัตถุที่จะพึงล่วงได้อันมาถึงเฉพาะหน้า ๑  สมาทานวิรัติ ความเว้นด้วยอำนาจการถือเป็นกิจวัตร ๑  สมุจเฉทวิรัติ  ความเว้นด้วยตัดขาดมีอันไม่ทำอย่างนั้นเป็นปกติ    ตามภูมิของคนผู้ปฏิบัติ

กัลยาณธรรม
ในสิกขาบทที่    แก้ด้วยเมตตากับกรุณา  ที่ผู้มีศีลจะพึงแสดงเป็นพิเศษ ในการเผื่อแผ่ให้ความสุขและช่วยทุกข์ของผู้อื่น
ในสิกขาบทที่    แก้ด้วยสัมมาอาชีวะ  ความหมั่นประกอบการหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ  อันเป็นเครื่องอุดหนุนผู้มีศีลให้มั่นคงอยู่ในศีล
ในสิกขาบทที่    แก้ด้วยความสำรวมในกาม    ประการ  คือ  สทารสันโดษ  ความยินดีด้วยภรรยาของตน  สำหรับชาย    ปติวัตรความจงรักในสามี  สำหรับหญิง    อันเป็นข้อปฏิบัติอุกฤษฏ์ยิ่งขึ้นไปกว่าศีล
ในสิกขาบทที่    แก้ด้วยความมีสัตย์  ต่างโดยอาการ    สถาน  คือ  ความเที่ยงธรรมในกิจการอันเป็นหน้าที่ ๑  ความซื่อตรงต่อมิตร  ๑ ความสวามิภักดิ์ในเจ้าของตน    ความกตัญญูในท่านผู้มีบุญคุณแก่ตน    อันอุดหนุนผู้มีศีลให้บริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติยิ่งขึ้น
ในสิกขาบทที่    แก้ด้วยความมีสติรอบคอบ  ต่างโดยอาการ    สถาน  คือ  ความรู้จักประมาณในอาหารที่จะพึงบริโภค ๑ ความไม่เลินเล่อในการงาน    ความมีสัมปชัญญะในการประพฤติตัว  ๑ ความไม่ประมาทในธรรม ๑  อันเป็นคุณพิเศษประดับผู้มีศีลให้มีความประพฤติดีงามขึ้น
ข้อเหล่านี้มีพรรณนาโดยพิสดารไปตามลำดับในบทข้างหน้า

เบญจศีล
ปาณาติปาตา  เวรมณี
สิกขาบทที่ 
สิกขาบทนี้  ( ปาณาติปาตา  เวรมณี ) แปลว่า  เว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง  คือเว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิต
สัตว์  ประสงค์ทั้งมนุษย์และเดียรฉานที่ยังเป็นอยู่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงแก่เฒ่า
สิกขาบทนี้  บัญญัติขึ้นด้วยหวังจะให้ปลูกเมตตาจิตในสัตว์ทุกจำพวก
เมื่อเพ่งเมตตาจิตเป็นใหญ่  ดังนั้น  จึงไม่ใช่เฉพาะการฆ่าให้ตายเท่านั้น  แม้การทำร้ายร่างกายและการทรกรรม  ก็ถูกห้ามตามสิกขาบทนี้ด้วย
         
การฆ่า
การฆ่า  ได้แก่การทำให้ตาย
โดยวัตถุ  คือผู้ถูกฆ่า  มี    อย่าง  คือ  ฆ่ามนุษย์    ฆ่าเดียรฉาน 
โดยเจตนา  คือความตั้งใจของผู้ฆ่า  มี    อย่าง คือ จงใจฆ่า ๑  ไม่จงใจฆ่า 
การฆ่า  สำเร็จด้วยประโยค ( ความพยายาม ) ๒ อย่าง คือ  ฆ่าเอง    ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ๑
การใช้ให้ผู้อื่นฆ่า  ทั้งผู้ใช้  และผู้รับใช้มีโทษ  ( ความผิด )  ฐานฆ่า  ทั้งฝ่ายศาสนาและฝ่ายอาณาจักร

กรรมหนักหรือกรรมเบา
การฆ่า จัดเป็นกรรมหนัก  หรือเบา  เพราะวัตถุ  เจตนา  และประโยค
วัตถุ  คือผู้ถูกฆ่า  การฆ่าผู้บริสุทธิ์ไม่มีความผิดและผู้มีคุณต่อตน  เช่นบิดามารดาหรือผู้มีคุณธรรมต่อสังคม  เช่นพระพุทธเจ้า  เป็นต้น  มีโทษมาก
เจตนา  คือความตั้งใจของผู้ฆ่า  การฆ่าด้วยอำนาจของกิเลส  เช่นมิจฉาทิฏฐิ  ไม่เชื่อว่าบาปมีจริง  ฆ่าด้วยอำนาจความโลภ  เช่นรับจ้างฆ่าคน  ฆ่าด้วยอำนาจความพยาบาท  เช่น  โกรธพ่อแม่  แล้วฆ่าเด็กไร้เดียงสา  ฆ่าไม่มีเหตุผล  เช่น  โกรธนักเรียนคนหนึ่ง  ต่อมาพบนักเรียนโรงเรียนนั้นซึ่งเขาไม่รู้เรื่องอะไร  ก็ฆ่าเขา  เป็นต้น  มีโทษมาก
ประโยค  คือความพยายามในการฆ่า  การทรมานให้ได้รับความเจ็บปวดมาก ๆ  แล้วจึงฆ่าให้ตาย  ที่เรียกว่า  ฆ่าให้ตายทีละน้อย  มีโทษมาก
การทำร้ายร่างกาย
การทำร้ายร่างกาย  หมายถึง  การทำร้ายผู้อื่น  โดยการทำให้พิการ  เสียโฉม  หรือเจ็บลำบาก  แต่ไม่ถึงแก่ชีวิต
ทำให้พิการ  คือ ทำให้เสียอวัยวะเป็นเครื่องใช้การ  เช่นทำให้เสียนัยน์ตา เสียแขน  เสียขาเป็นต้น
ทำให้เสียโฉม  คือ  ทำร่างกายให้เสียรูป  เสียงาม  ไม่ถึงพิการ  เช่นใช้มีดหรือไม้กรีดหรือตีที่ใบหน้าให้เป็นแผลเป็น  เป็นต้น
ทำให้เจ็บลำบาก  คือ ทำร้ายไม่ถึงเสียโฉม  เป็นแต่เสียความสำราญ
การทำร้ายร่างกายทั้งหมดนี้  เป็นอนุโลมปาณาติบาต  ถูกห้ามด้วยสิกขาบทนี้

ทรกรรม
ข้อนี้  จะกล่าวเฉพาะเดียรฉาน  เพราะมนุษย์ไม่เป็นวัตถุอันใคร ๆ จะพึงทรกรรมได้ทั่วไป
ทรกรรม  หมายความว่า  ประพฤติเหี้ยมโหดแก่สัตว์  ไม่ปราณี  ดังจะชี้ตัวอย่างให้เห็นตามที่จัดเป็นแผนกดังนี้
ใช้การ  หมายถึงใช้สัตว์ไม่มีปราณี  ปล่อยให้อดอยากซูบผอม  ไม่ให้กิน  ไม่ให้นอน  ไม่ให้หยุดพักผ่อนตามกาล  ขณะใช้งานก็เฆี่ยนตี  ทำร้ายร่างกายโดยไม่มีเมตตาจิต  หรือใช้การเกินกำลังของสัตว์  เช่นให้เข็นภาระอันหนักเหลือเกิน  เป็นต้น จัดเป็นทรกรรมในการใช้การ
กักขัง  หมายถึง  กักขังให้อดอยาก  อิดโรย  หรือผูกรัดไว้จนไม่สามารถจะผลัดเปลี่ยนอิริยาบถได้  จัดเป็นทรกรรมในการกักขัง
นำไป  พึงเห็นในการผูกมัด  เป็ด  ไก่  สุกร  หิ้วหามเอาศีรษะลง  เอาเท้าขึ้น  ผู้ทำเช่นนี้จัดเป็นทรกรรมในการนำไป
เล่นสนุก  พึงเห็นในการทึ้งปีก  ทึ้งขาของสัตว์  มีตั๊กแตน  และจิ้งหรีด เป็นต้น  เพื่อความสนุกของตน
ผจญสัตว์  พึงเห็นในการชนโค  ชนกระบือ  ชนแพะ  ชนแกะ  ตีไก่กัดปลา  กัดจิ้งหรีด  เป็นต้น
การทรกรรมสัตว์ทุกอย่าง  จัดเป็นอนุโลมปาณาติบาต  ถูกห้ามด้วยสิกขาบทนี้  เช่นกัน

อทินนาทานา  เวรมณี
สิกขาบทที่ 
สิกขาบทนี้  ( อทินนาทานา  เวรมณี )  แปลว่า  เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
กิริยาที่ถือเอา  หมายความว่า  ถือเอาด้วยอาการเป็นโจร 
สิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ หมายความว่า สิ่งของที่มีเจ้าของทั้งที่เป็นสวิญญาณกทรัพย์ ทั้งที่เป็น อวิญญาณกทรัพย์อันผู้เป็นเจ้าของไม่ได้ยกให้เป็นสิทธิ์ขาด หรือสิ่งของที่ไม่ใช่ของใคร  (โดยเฉพาะ)  แต่มีผู้รักษาหวงแหน  ได้แก่  สิ่งของที่อุทิศบูชาปูชนียวัตถุในศาสนานั้น ๆ ของกลางในชุมชน  ของสงฆ์และของมหาชนในสโมสรสถานนั้น ๆ
สิกขาบทนี้  บัญญัติขึ้นด้วยหวังจะให้เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ  เว้นจากการเบียดกันและกัน  คือไม่เบียดเบียนทรัพย์สินผู้อื่น
เมื่อเพ่ง  ความประพฤติชอบธรรมในทรัพย์สมบัติของผู้อื่นเป็นใหญ่  ดังนั้น จึงไม่ใช่แต่โจรกรรมเท่านั้น  แม้ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม และกิริยาเป็นฉายาโจรกรรมก็ถูกห้ามตามสิกขาบทนี้ด้วย

โจรกรรม
โจรกรรม  ได้แก่  กิริยาที่ถือเอาสิ่งของที่ไม่มีผู้ให้  ด้วยอาการเป็นโจร  เช่น ปล้นสะดม  ลักขโมย  ตีชิงวิ่งราว  กรรโชค คือใช้อาชญาข่มขู่  และทุจริตคอรัปชั่น  เป็นต้น

ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม
อนุโลมโจรกรรม ได้แก่  กิริยาที่แสวงหาทรัพย์พัสดุในทางไม่บริสุทธิ์อันไม่ถึงเป็นโจรกรรม  ตัวอย่างเช่น
สมโจร  ได้แก่กิริยาที่อุดหนุนโจรกรรม  เช่นรับซื้อของโจร  เป็นต้น
ปอกลอก  ได้แก่กิริยาที่คบคนด้วยอาการไม่ซื่อสัตย์  มุ่งหมายจะเอาแต่ทรัพย์สมบัติของเขาถ่ายเดียว  เมื่อเขาหมดตัวแล้ว  ก็ทิ้งไป
รับสินบน  ได้แก่กิริยาที่ถือเอาทรัพย์พัสดุที่เขาให้  เพื่อช่วยทำธุระให้แก่เขาในทางที่ผิด  เช่น  เจ้าหน้าที่รับสินบนจากผู้ร้ายแล้วปล่อยให้พ้นความผิด  เป็นต้น
ทรัพย์พัสดุที่ได้มาด้วยมิจฉาชีพเช่นนี้ ก็เป็นดุจเดียวกันกับของที่ได้มาด้วยโจรกรรมไม่ทำความสุขให้เกิดแก่ผู้ได้  กลับเป็นปัจจัยแห่งความเสื่อมของผู้นั้น ให้เสียทรัพย์ เสียชื่อเสียง เสียยศศักดิ์ผู้รักตัวควรเว้นความหาเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรมนี้เสีย แสวงหาทรัพย์พัสดุเลี้ยงตนและคนที่ควรจะเลี้ยงในทางที่ชอบด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง

กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม
ข้อนี้  ได้แก่กิริยาที่ทำทรัพย์พัสดุของผู้อื่นให้สูญเสีย  และเป็นสินใช้ตกอยู่แก่ตน มีประเภทดังนี้
ผลาญ  ได้แก่  กิริยาทำอันตรายแก่ทรัพย์พัสดุของผู้อื่น  เช่น  เผาบ้านเผารถยนต์  เผาไร่  เผานา  หรือแกล้งตัดเงินเดือนและค่าจ้าง  เป็นต้น
หยิบฉวย ได้แก่กิริยาที่ถือเอาทรัพย์พัสดุของผู้อื่นด้วยความง่าย เช่นบุตรหลาน ผู้ประพฤติเป็นพาล  เอาทรัพย์ของมารดา  บิดา ปู่ย่า  ตายายไปใช้เสีย  ญาติมิตร  เอาทรัพย์ของญาติมิตรไปใช้  โดยมิได้บอกให้เจ้าของรู้  เป็นต้น
ผู้หวังความสวัสดีแก่ตน พึงเว้นกิริยาที่เป็นฉายาโจรกรรมเช่นนั้นเสีย  นับถือกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นในความเป็นเจ้าของพัสดุ ให้เหมือนตนประสงค์จะให้ผู้อื่นเขานับถือตนฉะนั้น

กรรมหนักหรือกรรมเบา
เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรม อทินนาทาน  จัดเป็นโทษหนักเป็นชั้นกันโดยวัตถุ  เจตนา  และประโยค
โดยวัตถุนั้น  ถ้าของที่ทำโจรกรรมมีราคามาก  ทำฉิบหายให้แก่เจ้าของทรัพย์มาก  ก็มีโทษมาก
โดยเจตนานั้น  ถ้าถือเอาด้วยโลภเจตนากล้า  ก็มีโทษมาก
โดยประโยคนั้น  ถ้าถือเอาด้วยฆ่าหรือทำร้ายเจ้าของทรัพย์  หรือประทุษร้าย  เคหะสถาน  และพัสดุของเขา  ก็มีโทษหนัก

กาเมสุมิจฉาจารา  เวรมณี
สิกขาบทที่ 
สิกขาบทนี้  (กาเมสุมิจฉาจารา  เวรมณี )  แปลว่าเว้นจากประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
คำว่า  กาม  ในที่นี้  ได้แก่  กิริยาที่รักใคร่กันในทางประเวณี
ข้อนี้  บัญญัติขึ้นด้วยหวังจะป้องกันความแตกร้าวในหมู่มนุษย์  และทำเขาให้ไว้วางใจกันและกัน
เมื่อเพ่งความไม่ประพฤติผิดเป็นใหญ่  จึงได้หญิงเป็นวัตถุที่ห้ามของชาย  ๓ จำพวก  คือ ภรรยาท่าน    หญิงผู้อยู่ในพิทักษ์รักษา  เช่น  หญิงอยู่ในปกครองของบิดามารดาหรือญาติทั้งหลายผู้อยู่ในฐานะเช่นนั้น    หญิงที่จารีตห้าม เช่น แม่ชี หรือที่กฎหมายบ้านเมืองห้าม  เป็นต้น 
หญิง    จำพวกนี้  จะมีฉันทะร่วมกัน  หรือมิร่วมกันไม่เป็นประมาณชายร่วมสังวาสด้วย  ก็คงเป็นกาเมสุมิจฉาจาร  ชายผู้ข่มขืนหญิงนอกนี้  คงไม่พ้นกาเมสุมิจฉาจาร  เช่นเดียวกัน
ส่วนชายก็เป็นวัตถุที่ห้ามของหญิงเหมือนกัน  เมื่อยกขึ้นกล่าวก็ได้    จำพวก  คือ  ชายอื่นจากสามีเป็นวัตถุที่ห้ามของหญิงมีสามี ชายที่จาริตห้ามเช่นนักบวช นักพรต เป็นต้น เป็นวัตถุที่ห้ามของหญิงทั้งปวง

มุสาวาทา  เวรมณี
สิกขาบทที่ 
สิกขาบทนี้  (มุสาวาทา  เวรมณี) แปลว่า เว้นจากมุสาวาท 
ความเท็จได้ชื่อว่า  มุสา
กิริยาที่พูดหรือแสดงอาการมุสา  ได้ชื่อว่ามุสาวาทในที่นี้
ข้อนี้  บัญญัติขึ้นด้วยหวังจะห้ามความตัดประโยชน์ทางวาจา  เพราะคนทั้งหลายย่อมชอบและนับถือความจริงด้วยกันทุกคน  ผู้พูดมุสาแก่คนอื่นจึงเป็นการตัดประโยชน์ท่าน จัดว่าเป็นบาป
เมื่อเพ่งความจริงเป็นใหญ่  ดังนั้น  จึงมิใช่แต่มุสาเท่านั้น  แม้อนุโลมมุสาและปฎิสสวะ  ก็ถูกห้ามตามสิกขาบทนี้ด้วย

มุสา
ข้อนี้พึงกำหนดรู้ด้วยลักษณะอย่างนี้  วัตถุ  (เรื่อง)  ที่จะกล่าวนั้นไม่เป็นจริง  ผู้กล่าวจงใจกล่าว  และกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง  เพื่อผู้ฟังเข้าใจผิด
การแสดงความเท็จ เพื่อผู้อื่นเข้าใจผิดนั้น ไม่เฉพาะด้วยวาจาอย่างเดียว แม้การเขียนหนังสือ  การใช้มือให้สัญญาณ  การสั่นศีรษะ  เป็นต้น  ก็จัดเป็นมุสาวาทได้
มุสานั้น  มีประเภทที่จะพึงพรรณนาให้เห็นเป็นตัวอย่าง  ดังนี้
ปด  ได้แก่มุสาจัง    ไม่อาศัยมูลเลย  เช่นเห็นแล้วบอกว่าไม่เห็นเป็นต้น เรียกชื่อต่างกันตามความมุ่งหมายของผู้พูด  เช่นเพื่อยุให้เขาแตกกัน  เรียกว่าส่อเสียด  เพื่อจะโกงท่านเรียกว่าหลอก  เพื่อจะยกย่อง  เรียกว่ายอ  พูดไว้แล้วไม่รับคำ เรียกว่า  กลับคำ  เป็นตัวอย่าง
ทนสาบาน  ได้แก่ กิริยาที่เสี่ยงสัตย์ว่า  จะพูด  หรือจะทำตามคำสาบานแต่ไม่ได้ตั้งใจจริงดังนั้น  เช่นพยานทนสาบานแล้วเบิกคำเท็จ  เป็นตัวอย่าง
ทำเล่ห์กระเท่ห์  ได้แก่ กิริยาที่อวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์  อันไม่เป็นจริง  เช่น  อวดรู้วิชาคงกระพันว่าฟันไม่เข้า  ยิงไม่ออก  เป็นต้น  เพื่อให้คนหลงเชื่อถือ  และพากันนิยมในตัว  เป็นอุบายหาลาภ
มารยา  ได้แก่กิริยาที่แสดงอาการให้เขาเห็นผิดจากที่เป็นจริง  เช่นเป็นคนทุศีล  ทำท่าทางให้เขาเห็นว่า เป็นคนมีศีล
ทำเลศ  ได้แก่พูดเล่นสำนวน  เช่นเดินไปพบคนหนึ่งสวนทางมา  แล้วเดินเลยไปจากที่พบนั้น  สมมติว่า  ๒๐  วา  มีคนมาถามว่า  เห็นคนหนึ่งสวนทางไปไหม  ตอบว่า  ข้าพเจ้าเดินมาตรงนี้ไม่เห็นใครเลยนอกจากผู้ถาม
เสริมความ  ได้แก่พูดมุสาอาศัยมูลเดิม  แต่เสริมให้มากกว่าที่เป็นจริง  เช่น  โฆษณาเครื่องดื่มหรืออาหารเสริมบางอย่างว่า  เป็นยาชูกำลัง  หรือรักษาโรคมะเร็งได้ เป็นตัวอย่าง
อำความ  ได้แก่พูดมุสาอาศัยมูลเดิม  แต่ตัดข้อความที่ไม่ประสงค์จะให้รู้ออกเสีย  เพื่อทำความเข้าใจให้เป็นอย่างอื่น  เช่น  นักเรียนกลับจากโรงเรียนแล้วไปบ้านเพื่อน ผู้นิสัยเหมือนกัน  แล้วพากันไปเที่ยวแหล่งอบายมุข  กลับบ้านผิดเวลา  บิดา มารดาถามว่า เหตุไฉนจึงกลับบ้านเช้า  เขาตอบว่าไปบ้านเพื่อน  เป็นตัวอย่าง

กรรมหนักหรือกรรมเบา
เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรม มุสาวาท จัดว่ามีโทษหนักเป็นชั้นกันโดยวัตถุ เจตนา  และประโยค
โดยวัตถุ  ได้แก่กล่าวมุสาแก่ท่านผู้มีคุณแก่ตน  คือ  พ่อ  แม่  ครู  เจ้านาย  และผู้มีคุณต่อส่วนรวม  คือ  ผู้มีศีลธรรมมีโทษหนัก
โดยเจตนา  คือ  ถ้าผู้พูดคิดให้ร้ายแก่ท่าน  เช่น  ทนสาบานเบิกความเท็จ  กล่าวใส่ความท่าน  หลอกลวงเอาทรัพย์ท่าน  เป็นต้น มีโทษหนัก
โดยประโยค  คือ  ถ้าผู้พูดพยายามสร้างเรื่องเท็จ  เช่น มุสาว่าจะสร้างวัด แล้วพิมพ์ใบฎีกาเรี่ยไร  อ้างสถาบัน  อ้างองค์กรการกุศลต่าง ๆ  มาหลอกลวงทรัพย์ สินเงินทองชาวบ้านมีโทษหนัก

อนุโลมมุสา
ข้อนี้พึงกำหนดรู้ด้วยลักษณะอย่างนี้  วัตถุ (เรื่อง)  ที่จะกล่าวนั้น ไม่เป็นจริง  แต่ผู้กล่าวไม่จงใจจะกล่าวให้ผู้ฟังเข้าใจผิด  มีประเภทที่จะพึงพรรณนาให้เห็นเป็นตัวอย่าง  ดังนี้
เสียดแทง  ได้แก่กิริยาที่ว่าผู้อื่นให้เจ็บใจ  ด้วยอ้างวัตถุที่ไม่เป็นจริง  กล่าวยกให้สูงกว่าพื้นเพของเขา  เรียกว่า ประชด  หรือกล่าวทำให้เป็นคนเลวกว่าพื้นเพของเขา  เรียกว่าด่า
สับปลับ  ได้แก่พูดปดด้วยความคะนองวาจา  แต่ผู้พูดไม่ได้จงใจจะให้เขา เข้าใจผิด  เช่นรับปาก  หรือปฏิเสธใครง่าย ๆ  แล้วไม่ปฏิบัติตามที่รับหรือปฏิเสธนั้น

ปฏิสสวะ
ปฏิสสวะ  คือ  เดิมรับท่านด้วยเจตนาบริสุทธิ์  คิดจะทำตามรับไว้จริง แต่ภายหลังหาทำอย่างนั้นไม่  พึงเห็นตัวอย่างดังนี้
ผิดสัญญา  ได้แก่ทั้งสองฝ่ายทำสัญญาแก่กันไว้ว่า  จะทำเช่นนั้น ๆ  แต่ภายหลังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามข้อที่สัญญาไว้
เสียสัตย์  ได้แก่ให้สัตย์แก่ท่านฝ่ายเดียว  ว่าจะทำหรือไม่ทำเช่นนั้น  แต่ภายหลังไม่ทำตามนั้น  เช่นให้สัตย์ว่าจะเลิกค้ายาบ้า  แต่พอได้โอกาสก็ค้าอีกเป็นต้น
คืนคำ ได้แก่รับปากท่านว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้  แต่ไม่ทำตามพูด  เช่นรับปากจะให้สิ่งนั้น    แก่ท่านแล้วหาให้ไม่

สุราเมรยมัชชปมาทัฎฐานา  เวรมณี
สิกขาบทคำรบ 
สิกขาบทนี้  (สุราเมรยมัชชปมาทัฎฐานา  เวรมณี)  แปลว่าเว้นจากดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย  อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

โทษของสุราและสิ่งมึนเมา
สุราทำ  ให้เกิดความเมา
ความเมา  ทำให้ขาดสติ
ความขาดสติ  ทำให้หลงผิด
ความหลงผิด  เป็นเหตุให้พูดผิดและทำผิด
ผู้พูดผิด  ทำผิด  ทุคติเป็นอันหวังได้
เพราะฉะนั้น  สุราและสิ่งมึนเมาทุกชนิด  จึงไม่ควรดื่ม  และไม่ควรเสพ
แต่นักดื่ม  และนักเสพสิ่งเสพติดทั้งหลายมักจะเห็นผิดเป็นชอบ  มองเห็นสิ่งที่มีโทษว่ามีคุณ  มองสุราว่าทำให้ลืมความทุกข์ได้  จึงตั้งชื่อว่า  บรมสร่างทุกข์  มองฝิ่นว่าเสพแล้วทำให้เป็นคนอารมณ์เยือกเย็น  ไม่อาทรร้อนใจอะไร  จึงตั้งชื่อให้ว่า สุขไสยาศน์  มองกัญชาว่า  สูบแล้วทำให้จิตไร้วิตกกังวล  นอนหลับได้สนิท  จึงตั้งชื่อให้ว่า  เทวราชบรรทม  แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น  การที่เขาลืมความทุกข์ก็ดี การที่เขานอนอย่างมีความสุขก็ดี  การที่จิตใจของเขาไร้ความวิตกกังวลกับสิ่งต่าง ๆ  ก็ดี  ล้วนเป็นผลมาจากการเมาสุราและยาจนขาดสติสัมปชัญญะ  ที่จะรู้สึกถึงความผิดชอบชั่วดีทั้งสิ้น  เมื่อฤทธิ์สุราและยาหมดไป  จิตใจก็กลับทุกข์อย่างเดิม  ต้องเสียทรัพย์ไปซื้อหาสิ่งเหล่านั้นมาเสพอีก  ทั้งทำให้เป็นคนเกียจคร้าน  ไม่ประกอบอาชีพการงาน  มีแต่ล้างผลาญทรัพย์อย่างเดียว
ดังนั้น  ที่ถูกสุราควรตั้งชื่อว่า  บรมสร้างทุกข์  ฝิ่นควรตั้งชื่อว่าสุขพินาศ  กัญชาควรตั้งชื่อว่า  ปีศาจน์บรรทม  รวมสุราและยาเสพติดทุกอย่างควรตั้งชื่อว่า  บรมล้างผลาญ  เพราะผลาญทรัพย์สิน  เงินทอง  เกียรติยศชื่อเสียง และคุณงามความดี  จนหมดสิ้น  เพราะฉะนั้น  สุราและสิ่งเสพติดทั้งหลายจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรดื่ม  ไม่ควรเสพ  หรือแม้แต่เพียงจะทดลอง
วิรัติคือความละเว้น
บุคคลผู้เว้นจากข้อห้ามในสิกขาบท    ประการนั้น  ได้ชื่อว่า  ผู้มีศีล  กิริยาที่เว้นเรียกว่าวิรัตินั้นมี    ประเภท  คือ  ๑.  สัมปัตตวิรัติ  ๒.  สมาทานวิรัติ  ๓.  สมุจเฉทวิรัติ 
๑.  สัมปัตตวิรัติ แปลว่า  ความละเว้นจากวัตถุอันถึงเข้า  โดยไม่ได้ตั้งสัตย์ปฏิญาณไว้ล่วงหน้า แต่บุคคลนั้นพิจารณาเห็นการที่ทำดังนั้นไม่สมควรแก่ตนโดยชาติตระกูล  ยศศักดิ์ ทรัพย์ บริวาร  ความรู้  หรือมีใจเมตตาปรานี  คิดถึงเราบ้าง  เขาบ้าง  มีหิริ  คือความละอายแก่ใจ  มีโอตตัปปะ  คือ ความเกรงกลัวจะได้บาป หรือคิดเห็นประโยชน์ในการเว้นอย่างอื่น ๆ อีก และเขาไม่กระทำกรรมเห็นปานนั้น
ส่วนบุคคลผู้ไม่มีโอกาสจะทำ  เช่น คนหัวขโมยยังไม่ได้ท่วงที  ยังลักของเขาไม่ได้  จึงเว้นไว้ก่อน  ดังนี้  ไม่จัดว่าเป็นวิรัติเลย
.  สมาทานวิวัติ  แปลว่า  ความละเว้นด้วยการสมาทาน  ได้แก่ความละเว้นของพวกคนจำศีล  เช่น  ภิกษุ  สามเณร  อุบาสก  และอุบาสิกา  เป็นต้น
การงดเว้นจากวัตถุอันถึงเข้า  ด้วยเห็นว่า  ไม่สมควรจะทำ  และการงดเว้นด้วยการสมาทาน  คือ  การไม่ล่วงข้อห้ามของนักบวช  นักพรตทั้งหลาย  นอกจากจะจัดเป็นวัติแล้ว  ยังจัดเป็นพรต  คือ  ข้อควรประพฤติของเขาด้วย
๓.  สมุจเฉทวิรัติ  แปลว่า  ความละเว้นด้วยตัดขาด  ได้แก่  ความเว้นของพระอริยเจ้า  ผู้มีปกติไม่ประพฤติล่วงข้อห้ามเหล่านั้นจำเดิมแต่ท่านได้เป็นพระอริยเจ้า
ศีล    ประการนี้  เป็นวินัยในพระพุทธศาสนา  สาธารณะแก่บรรพชิต  และคฤหัสถ์ทั้งสองฝ่าย  ผู้ถือพระพุทธศาสนาแท้จริง ย่อมรักษายิ่งบ้าง  หย่อนบ้าง  ตามภูมิของเขา  ฝ่ายผู้ไม่ได้รักษาเสียเลย  จะเป็นได้ดีที่สุดก็แต่เพียงผู้สรรเสริญพระพุทธศาสนาเท่านั้น

เบญจกัลยาณธรรม
ผู้เว้นจากข้อห้ามทั้ง    ดังกล่าวมา  ได้ชื่อว่า  เป็นผู้มีศีล  ผู้มีศีลย่อมไม่ทำหรือพูดอะไรที่สร้างความทุกข์  ความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง  และผู้อื่น  แต่จะได้ชื่อว่ามีกัลยาณธรรมทั่วทุกคน  หามิได้  ต่างว่าคนมีศีลผู้หนึ่ง  พบคนเรือล่มว่ายน้ำอยู่เขาสามารถจะช่วยได้  แต่หามีจิตกรุณาช่วยเหลือไม่  และคนนั้นไม่ได้ความช่วยเหลือจึงจมน้ำตาย  เช่นนี้  ศีลของเขาไม่ขาด  แต่ปราศจากกรุณา  ยังเป็นที่น่าติเตียน  เพราะส่วนนั้น  จะจัดว่าเขามีกัลยาณธรรมไม่ได้
ถ้าเขาเห็นดังนั้นแล้ว  มีกรุณาเตือนใจ  หยุดช่วยคนนั้นให้พ้นอันตรายเช่นนี้  จึงได้ชื่อว่า  มีทั้งศีล  มีทั้งกัลยาณธรรม
กัลยาณธรรมนั้น  แปลว่า  ธรรมอันงาม  กล่าวโดยความก็คือ  ข้อปฏิบัติพิเศษยิ่งขึ้นไปกว่าศีล  ได้ในสิกขาบทนั้น ๆ เอง
ในสิกขาบทที่ ๑  ได้กัลยาณธรรม  คือ  เมตตากับกรุณา
ในสิกขาบทที่ ๒  ได้กัลยาณธรรม  คือ  สัมมาอาชีวะ
ในสิกขาบทที่ ๓  ได้กัลยาณธรรม  คือ  ความสำรวมในกาม
ในสิกขาบทที่ ๔  ได้กัลยาณธรรม  คือ  ความมีสัตย์
ในสิกขาบทที่ ๕  ได้กัลยาณธรรม  คือ  ความมีสติรอบคอบ

กัลยาณธรรมในสิกขาบทที่ต้น
เมตตา ได้แก่  ความคิดปรารถนาจะให้เขานั้นเป็นสุข  ตนได้สุขสำราญแล้ว  ก็อยากให้ผู้อื่นได้บ้าง  คุณข้อนี้เป็นเหตุให้สัตว์คิดเกื้อกูลกันและกัน
วัด  โรงเรียน  โรงพยาบาล  โรงเลี้ยงเด็ก  สถานสงเคราะห์ต่าง ๆ มูลนิธิการกุศลต่าง ๆ  เป็นต้น  ล้วนเกิดมาจากความคิดเผื่อแผ่ความสุขให้แก่ผู้อื่นทั้งสิ้น จึงได้บริจาคทรัพย์ของตนสร้าง  ปฏิสังขรณ์หรือทำนุบำรุง  สถานที่นั้น ๆ  สำหรับผู้อื่นได้รับประโยชน์บ้าง
ผู้ใด  ถึงเวลาที่ผู้อื่นควรจะได้เมตตาจากตัว อาจอยู่และหาเหตุขัดข้องมิได้ แต่หาแสดงไม่  เช่นมีลูกแล้วยังไม่เอาเป็นธุระเลี้ยงดูรักษา พบคนขัดสนอดข้าวไม่มีจะบริโภคมาถึงเฉพาะหน้าและตนอาจอยู่  แต่หาให้ไม่  ผู้นั้นได้ชื่อว่าคนใจจืด เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวมีหนี้ของโลกติดตัวอยู่เพราะได้รับอุปการะของโลกมาก่อนแล้ว เมื่อถึงเวลาเข้าบ้างไม่ตอบแทน
กรุณา  ได้แก่  ความคิดปรารถนาจะให้เขาปราศจากทุกข์  เมื่อเห็นทุกข์เกิดแก่ผู้อื่น  ก็พลอยหวั่นใจไปด้วย  คุณข้อนี้เป็นเหตุให้สัตว์คิดช่วยทุกข์ภัยของกันและกัน
การแสดงกรุณานี้  เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนควรกระทำ  เพราะตนเองก็เคยได้รับกรุณาแต่ท่านผู้อื่นมาแล้ว  เป็นต้นว่า  เมื่อยังเล็กมารดา  บิดา  หรือท่านผู้อื่นผู้บำรุงเลี้ยงก็คอยป้องกันอันตรายต่าง ๆ  ที่จะพึงมีมา  เช่น  เจ็บไข้ก็ขวนขวายหาหมอรักษา  เป็นต้น  และตนเองก็ยังหวังกรุณาดังนั้นของท่านผู้อื่นต่อไปข้างหน้าอีก  เมื่อถึงเวลาที่จะต้องแสดงกรุณาแก่  ผู้อื่นเช่นนั้นบ้าง  จึงควรทำ
ผู้ใดอาจอยู่แต่หาแสดงไม่  เช่นเห็นคนเรือล่มที่น่ากลัวจะเป็นอันตรายถึงชีวิต และไม่ช่วยดังแสดงมาแล้วในหนหลัง หรือพบคนเจ็บไข้ตามหนทางไม่มีใครอุปถัมภ์ผ่านไปด้วยไม่สมเพชและไม่ขวนขวายอย่างหนึ่งอย่างใด  ผู้นั้นได้ชื่อว่าคนใจดำ  มีแต่เอาเปรียบโลก  มีแต่หวังอุปการะของโลกข้างเดียว  เมื่อถึงเวลาเขาบ้าง  เฉยเสียไม่ตอบแทน
การช่วยเหลือผู้ประสบภัย  การไถ่ชีวิตสัตว์จากโรงฆ่าสัตว์  การปล่อยนกปล่อยปลาเป็นต้น  ล้วนเกิดจากจิตใจที่มีความกรุณาทั้งสิ้น
ความมีเมตตากรุณาแก่กันและกัน  เป็นธรรมอันงามก็จริง  ถึงอย่างนั้น ผู้จะแสดงควรเป็นคนฉลาดในอุบาย  ประโยชน์จึงจะสำเร็จ  ถ้าไม่ฉลาด  มุ่งแต่จะเมตตากรุณาอย่างเดียว  บางอย่างก็เกิดโทษได้  เช่นเห็นเขาจับผู้ร้ายมา  คิดแต่จะให้ผู้ร้ายรอดจากอาญาแผ่นดิน  และเข้าแย่งชิงให้หลุดไปดังนี้  เป็นการเมตตากรุณาที่ผิด  และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย  จึงเป็นกิจที่ไม่สมควรทำ  ในสถานการณ์เช่นนี้  ควรตั้งอยู่ในอุเบกขา  ถือเสียว่า  เขามีกรรมเป็นของเขา
การแสดงเมตตากรุณานี้  บุคคลประกอบให้ถูกที่แล้ว  ย่อมอำนวยผลอันดีให้แก่ผู้ประกอบและผู้ได้รับ  ทำความปฏิบัติของผู้มีศีลให้งามขึ้น  เหมือนดังเรือนแหวน ประดับหัวแหวนให้งามขึ้น  ฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า  เป็นกัลยาณธรรม  ในสิกขาบทที่ต้น

กัลยาณธรรมในสิกขาบทที่ 
สัมมาอาชีวะ  ได้แก่ความเพียรเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ  คุณข้อนี้  อุดหนุนผู้มีศีลให้สามารถรักษาศีลให้มั่นคง  แท้จริง  ผู้มีศีลแม้เว้นการหาเลี้ยงชีวิต  โดยอุบายที่ผิดแล้ว  ก็ยังต้องประกอบด้วยกิริยาที่ประพฤติเป็นธรรม  ในการหาเลี้ยงชีวิตด้วย 
กิริยาที่ประพฤติเป็นธรรมในการหาเลี้ยงชีวิตนี้  พึงเห็นในกิจการในบุคคล  และในวัตถุดังจะพรรณนาไปตามลำดับ
ความประพฤติเป็นธรรมในกิจการนั้น  เช่นผู้ใด  เป็นลูกจ้างก็ดี  หรือได้รับผลประโยชน์เพราะทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี  ผู้นั้น  ย่อมทำการอันเป็นหน้าที่ของตนนั้น  ด้วยความอุตสาหะเอาใจใส่  และด้วยความตั้งใจจะให้การนั้นสำเร็จด้วยดี  และ การทำเต็มเวลาที่กำหนดไว้สำหรับทำการ  มาเช้าก่อนกำหนด  เลิกทีหลังกำหนด  และในกำหนดที่ทำก็ไม่บิดพลิ้ว  หลีกเลี่ยงจากการงาน  ดังนี้ได้ชื่อว่า ประพฤติเป็นธรรมในกิจการ
ความประพฤติเป็นธรรมในบุคคลนั้น  เช่นบุคคลได้เป็นผู้ดูการ  มีผู้อื่นเป็นลูกมืออยู่ใต้บังคับ  ผู้นั้น  เมื่อจับจ่ายค่าจ้าง  ย่อมให้ตามสัญญา  หรือตามแรงของเขา  อีกอย่างหนึ่ง  เช่นผู้ขายของ  เมื่อซื้อสินค้าแล้ว  กำหนดว่า  จะเอากำไรร้อยละเท่าไรแล้ว  และกำหนดราคาสิ่งของลงไว้ผู้ใด  ผู้หนึ่งมาซื้อ  เป็นผู้มีบรรดาศักดิ์สูงก็ตาม  เป็นคนสามัญก็ตาม  ก็ขายเท่าราคานั้นยั่งยืนเสมอไป  ไม่ประพฤติเป็นคนเห็นแก่ได้  เช่นเห็นคนเซอะซะมา  ไม่รู้ราคาสิ่งของก็บอกผ่านราคาแพง ๆ ถ้าเห็นคนซื้อมีไหวพริบก็ขายตามตรง  ดังนี้ได้ชื่อว่า  ประพฤติเป็นธรรมในบุคคล
ความประพฤติเป็นธรรมในวัตถุนั้น  เช่นคนขายของ  ขายสิ่งอะไร  เช่น นม  เนย น้ำผึ้ง  ขี้ผึ้ง  เป็นต้น  เป็นของแท้หรือของปน  ก็บอกตามตรงไม่ขายของปนอย่างของแท้  การขายของปลอม  เช่นนี้ไม่เป็นเพียงลวงให้ผู้ซื้อเสียทรัพย์เต็มราคา  ยังหักประโยชน์ของผู้ซื้อให้เสียด้วย  เช่นจะต้องการน้ำผึ้งแท้ไปทำยา  ได้น้ำผึ้งปนมาทรัพย์ก็ต้องเสียเท่าราคาน้ำผึ้งแท้  และน้ำผึ้งปนนั้น  ก็เป็นกระสายยาไม่ดี มิเหมือนน้ำผึ้งแท้
อนึ่ง  ของกินที่ล่วงเวลาเป็นของเสียแล้ว  จะให้โทษแก่ผู้กิน  ก็ไม่แต่งปลอมเป็นของดีขาย  ขายของเช่นนี้ร้ายกว่าข้างต้น  อาจทำให้ผู้กินเสียชีวิต  หรือเจ็บไข้ได้ทุกข์  ข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างในแกงที่ค้างคืนบูดแล้วอุ่นขายอีก
อีกอย่างหนึ่ง  เช่นทำสัญญารับจะสร้างเรือน  และมีกำหนดว่า  จะใช้ของชนิดนั้น ๆ  ก็ทำตรงตามสัญญา  ไม่ยักเยื้องไม่ผ่อนใช้ของชั้นที่    แทนของชั้นที่    ดังนี้  ชื่อว่า ประพฤติเป็นธรรมในวัตถุ

ควรเว้นการงานอันประกอบด้วยโทษ
ผู้จะเลือกหาการงาน  ควรเว้นการงานอันประกอบด้วยโทษเสีย  แม้เป็นอุบายจะได้ทรัพย์มาก  เหตุทรัพย์ที่เกิดเพราะการงานประกอบด้วยโทษนั้น  ไม่ยังประโยชน์ของทรัพย์ให้สำเร็จเต็มที่
อีกข้อหนึ่ง  การงานที่ต้องเสีย  เช่น การพนัน  ก็ไม่ควรเลือก  เหตุว่า พลาดท่าก็ฉิบหาย  ถ้าได้  ทรัพย์นั้นก็ไม่ถาวรด้วยเหตุ    ประการ  (๑)  เป็นของได้มาง่าย  ความเสียดายน้อย  จับจ่ายง่าย  เก็บไม่ค่อยอยู่  (๒)  ความอยากได้ไม่มีที่สุด  ได้มาแล้วก็คงอยากได้อีก  เคยได้ในทางใด  ก็คงหาในทางนั้นอีก  เมื่อลงเล่นการพนันไม่หยุด  จะมีเวลาพลาดท่าลงสักคราวหนึ่งก็เป็นได้
เหตุดังนั้น  ควรเลือกหาการงานที่จะต้องออกกำลังกาย  กำลังความคิดหรือออกทรัพย์ที่ให้ผู้นั้นรู้สึกว่า  ต้องลงทุน  เมื่อได้ทรัพย์มาจะได้รู้จักเสียดาย  ไม่ใช้สอยสุรุ่ยสุร่ายเสีย

ควรรักษาทรัพย์ให้พ้นอันตรายและใช้จ่ายพอสมควร
ทรัพย์ที่ได้มาด้วยความหมั่นทำการงานนั้น  จะเจริญมั่งคั่งก็เพราะเจ้าของเอาใจใส่รักษาให้พ้นอันตรายต่าง ๆ  ที่เกิดแต่เหตุภายในคือตนเอง  หรือบุตรภรรยาใช้สอยให้สิ้นเสีย  เพราะเหตุไม่  จำเป็น  และเกิดแต่เหตุภายนอก  เช่น โจรนำไปเสียหรือไฟผลาญเสีย เป็นต้น และเจ้าของควรจับจ่ายใช้สอยแต่พอสมควรไม่ฟูมฟายเกินกว่าที่หาได้  หรือเกินกว่าที่ต้องการ  และไม่เบียดกรอจนถึงกับ  อดอยาก

ขยันทำงานสนับสนุนการรักษาศีล
ผู้ประกอบการงาน พึงมีอุตสาหะอย่าท้อถอย จงดูเยี่ยงแมลงผึ้งบินหาเกสรดอกไม้  นำมาทีละน้อย ๆ ยังอาจทำน้ำผึ้งไว้เลี้ยงตัว  และลูกน้อยได้ตลอดฤดูหนาวที่กันดารด้วยดอกไม้  เมื่อเขาหมั่นทำการงาน  ได้ทรัพย์มาจับจ่ายเลี้ยงตนและครอบครัวบ้าง  เก็บไว้เพื่อเหตุการณ์ข้างหน้าบ้างเสมอไป  ถึงไม่มากแต่เพียงคราวละน้อย ๆ  ก็พอจะทำตนให้เป็นสุขสำราญ  และไม่ต้องประกอบการทุจริตเพราะความเลี้ยงชีวิตเข้าบีบคั้น  เป็นอันรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้
ดังนี้แล สัมมาอาชีวะ  เป็นคุณอุดหนุนศีลให้บริสุทธิ์มั่นคงจึงได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณธรรมในสิกขาบทที่ 

กัลยาณธรรมในสิกขาบทที่ 
ความสำรวมในการนั้น  ได้แก่กิริยาที่ระมัดระวัง  ไม่ประพฤติมักมากในกามคุณข้อนี้ส่องความบริสุทธิ์ผ่องใสของชายหญิง  ให้กระจ่างแจ่มใส เพราะชายหญิงผู้เว้นจากกาเมสุมิจฉาจารแล้ว  แต่ยังประพฤติมักมากอยู่ในกาม  ย่อมไม่มีสง่าราศรีตกอยู่ในมลทิน  ไม่พ้นจากความติฉันไปได้
ธรรมข้อนี้แยกตามเพศของคน  ดังนี้
สทารสันโดษ  คือ  ความสันโดษด้วยด้วยภรรยาของตน  เป็นคุณสำหรับประดับชาย
ปติวัตร  คือ  ประพฤติเป็นไปในสามีของตน  เป็นคุณสำหรับประดับหญิง
ชายได้ภรรยาแล้ว  มีความพอใจด้วยภรรยาของตน  ช่วยกันหาเลี้ยงชีวิต เลี้ยงดูกันไปไม่ละทิ้ง  ไม่ผูกสมัครรักใคร่กับหญิงอื่นอีกต่อไป  ดังนี้  ได้ชื่อว่า สันโดษด้วยภรรยาของตนเป็นอย่างอุกกฤษฏ์
ฝ่ายหญิง  ได้สามีแล้ว  เอาใจใส่บำเรอสามีของตนทุกอย่างตามที่ภรรยาจะทำให้ดีที่สุด  ผูกสมัครรักใคร่แต่ในสามีของตน  ที่สุดสามีของตนตายไปก่อนแล้ว ด้วยอำนาจความรักใคร่นับถือในสามีผู้ตายไปแล้ว  เขาคงตัวเป็นหม้ายอยู่ดังนั้นไม่มีสามีใหม่  ไม่ผูกสมัครรักใคร่ในชายอื่นด้วยความปฏิพัทธ์อีกต่อไป  หญิงผู้นี้  ได้ชื่อว่า มีปติวัตร  ประพฤติเป็นไปในสามีของตน
ความสำรวมในกาม  ส่องความประพฤติดีงามของชายหญิงยิ่งขึ้น  จึงได้ชื่อว่า กัลยาณธรรมในสิกขาบทที่ 

กัลยาณธรรมในสิกขาบทที่ 
ความมีสัตย์นั้น  ได้แก่กิริยาที่ประพฤติตนเป็นคนตรงมีอาการที่จะพึงเห็นในข้อต่อไปนี้
ความเที่ยงธรรม  คือประพฤติเป็นธรรมในกิจการอันเป็นหน้าที่ของตน ไม่ทำให้ผิดกิจ  ด้วยอำนาจอคติ    ประการ คือ  ฉันทาคติ  ความเห็นแก่กัน    โทสาคติ ความเกลียดชังกัน    โมหาคติ  ความหลงไม่รู้ทัน    ภยาคติ  ความกลัว  พึงเห็นตัวอย่างผู้พิพากษา ผู้วินิจฉัยอรรถคดีโดยเที่ยงธรรม  เป็นต้น
ความซื่อตรง คือความประพฤติตรงต่อบุคคลผู้เป็นมิตร  ด้วยการอุปการะเกื้อหนุนร่วมสุขร่วมทุกข์  คอยตักเตือนให้สติ  แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์  มีความรักใคร่กันจริง  ไม่คิดร้ายต่อมิตร  เช่น  ปอกลอกเอาทรัพย์สินเงินทองเป็นต้น  มิตรเช่นนี้ได้ชื่อว่า  ซื่อตรงต่อมิตร
ความสวามิภักดิ์  คือความรักในเจ้า  (เจ้านายผู้ใหญ่)  ของตน  เมื่อได้ยอมยกบุคคลใดเป็นเจ้าของตนแล้ว  ก็ประพฤติซื่อสัตย์ไม่คิดคดต่อบุคคลนั้น  มีใจจงรัก  เป็นกำลังในสรรพกิจ  และป้องกันอันตราย  แม้ชีวิตก็ยอมตายแทนได้
ความกตัญญู  คือ  ความรู้อุปการะที่ท่านได้ทำแล้วแก่ตน  เป็นคู่กับความกตเวที  คือ ความตอบแทนให้ท่านทราบว่า  ตนรู้อุปการะที่ท่านได้ทำแล้ว
บุคคลผู้ได้รับอุปการะจากท่านผู้ใดแล้ว  ยกย่องนับถือท่านผู้นั้น  ตั้งไว้ในที่ผู้มีบุญคุณ  เช่น  มารดา  บิดา  อาจารย์  เจ้านายเป็นต้น  ไม่แสดงอาการลบหลู่  และยกตนเทียบเสมอ  ได้ชื่อว่าคนกตัญญู
ความมีสัตย์  ทำผู้มีศีลให้บริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติยิ่งขึ้น  ดังนี้  จึงได้ชื่อว่า เป็นกัลยาณธรรมในสิกขาบทที่ 

กัลยาณธรรมสิกขาบทคำรบ 
ความมีสติรอบคอบนั้น  ได้แก่ความมีสติ ตรวจตราไม่เลินเล่อ  มีอาการที่จะพึงเห็นในข้อต่อไปนี้
๑.  ความรู้จักประมาณในอาหารที่จะพึงบริโภค  หมายถึง  รู้จักเว้นอาหารที่แสลงโรค  บริโภคอาหารแต่พอดี  และรู้จักประมาณในการจับจ่ายหาอาหาร บริโภคแต่พอสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้
๒.  ความไม่เลินเล่อในการงาน  คือไม่ทอดธุระเพิกเฉยเสีย  เอาใจใส่คอยประกอบให้ชอบแก่กาลเทศะ  ไม่ปล่อยให้อากูลเสื่อมเสีย  เช่นทำนาก็ต้องทันฤดู  ค้าขายก็ต้องรู้คราวที่คนต้องการหรือไม่ต้องการของนั้น ๆ  รับราชการก็ต้องเข้าใจวิธีดำเนินและรักษาระเบียบ  เป็นต้น
๓.  ความมีสติสัมปชัญญะในการประพฤติตัว  หมายถึงความรอบคอบ  รู้จักระวังหน้าระวังหลัง  จะประกอบกิจใด ๆ  ก็ตริตรองให้เห็นก่อนว่า  จะมีคุณหรือมีโทษ  จะมีประโยชน์หรือจะเสียประโยชน์ อันจะควรทำหรือไม่ควรทำ  ถ้าเห็นว่าไม่ควรทำก็งดเสียถ้าเห็นว่าควรทำ  จึงทำ
ถึงจะพูดอะไรก็ระวังวาจา  ลั่นออกมาแล้วไม่ต้องคืนคำ  และไม่ให้นำแต่ความเสียหายมาให้ตัวและผู้อื่น
ถึงจะคิดอะไรก็อาศัยหลักฐาน  ไม่ปล่อยให้พล่านไปตามกำลังความฟุ้ง
บุคคลมีสัมปชัญญะ  ตรวจทางได้ทางเสียก่อนแล้วจึงทำกิจนั้น ๆ  เช่นนี้ ย่อมมีปกติทำอะไรไม่ผิดในกิจที่เป็นวิสัยของคน
๔.  ความไม่ประมาทในธรรมะ  หมายถึงไม่ประมาทในธรรม  คือสภาวะอันเป็นอยู่ตามธรรมดาของโลก  อธิบายว่า  กิริยาที่ร่างกายวิปริตแปรผัน  จากหนุ่มสาวมาเป็น ผมหงอก  ฟันหลุดเนื้อหนังหย่อนเป็นเกลียว  ตกกระ  หลังโกง  ตามืด  หูตึง  ใจฟั่นเฟือนหลงใหล  มีกำลังน้อยถอยลง  ชื่อว่าชรา  ความไม่ผาสุกเจ็บไข้ไปต่าง ๆ  ของสังขารร่างกาย  ชื่อว่า  พยาธิ  กิริยาที่ธาตุทั้ง    ชราพยาธิ  และมรณะทั้ง  ๓ นี้  เป็นสภาวะของสังขารอย่างหนึ่ง  ซึ่งมนุษย์ยังไม่มีอุบายแก้ไขให้ไม่แก่ไม่เจ็บ  ไม่ตาย  ตั้งแต่กาลนานมา  จนถึงปัจจุบันนี้
ผู้หยั่งรู้ธรรมดาของสังขารเช่นนี้แล้ว  ไม่เลินเล่อมัวเมาในวัย  ในความสำราญ  และในชีวิต  เตรียมตัวที่จะรับทุกข์    อย่างนี้  อันจะมาถึง  เมื่อยังเป็นเด็ก  รีบศึกษาแสวงหาวิชาความรู้ไว้เป็นเครื่องมือ  เติบใหญ่หมั่นทำการงาน  สั่งสมเมื่อชรา  พยาธิ  ครอบงำ  ไม่อาจทำการหาเลี้ยงชีพได้  ก็จะได้อาศัยทรัพย์และชื่อเสียงคุณความดี ที่ได้สั่งสมไว้เลี้ยงชีพให้ตลอดไปโดย ผาสุข
เมื่อมรณะมาถึง ก็จะได้ไม่ห่วงใยพะวักพะวน  สิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ซึ่งเป็นอาการของคนหลงตายเช่นนี้ได้ชื่อว่า  ไม่ประมาทในธรรม  คือสภาวะอันเป็นอยู่ตามธรรมดาของโลก
อีกประการหนึ่ง  ทุจริต  คือ  ความประพฤติชั่วด้วย  กาย  วาจา  และใจ  ย่อมให้  ผลแก่ผู้กระทำ ล้วนแต่เป็นส่วนที่ไม่น่าปรารถนา รักใคร่ พึงใจใคร ๆ  จะเลินเล่อเสียว่า  ตนทำแต่เล็กน้อยไม่เป็นไร  ไม่พอจะให้ผลทำให้ตนเสีย  ดังนั้นไม่ชอบ  มากมาแต่ไหน  ก็มาแต่น้อยก่อน  เขาทำทีละน้อยย่ามใจเข้า  ความชั่วก็สะสมมากขึ้น
อีกอย่างหนึ่ง  สุจริต  คือ  ความประพฤติชอบด้วยกาย  วาจา  ใจ ย่อมให้ผลแก่ผู้ทำ  ล้วนแต่ส่วนที่น่าให้ปรารถนา  รักใคร่  พึงใจ  ใคร ๆ จะเห็นว่า ทำแต่เพียงเล็กน้อย  ที่ไหนจะให้ผล  ดังนี้แล้ว  จะท้อถอยและทอดธุระเสีย  ไม่สมควร  แต่หมั่นทำบ่อย ๆ เข้า  ความดีก็ สะสมมากขึ้น  น้ำฝนที่ตกทีละหยาด ๆ ยังเต็มภาชนะที่รองได้  ควรถือเป็นเยี่ยงอย่าง  ผู้ไม่วางธุระ  คอยระวังตัว  ไม่ให้เกลือกกลั้วด้วยทุจริต  หมั่นสั่งสมสุจริต  เช่นนี้ก็ได้ชื่อว่า  ไม่ประมาทในธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
อีกประการหนึ่ง  คนทั้งหลายผู้เกิดมา  ได้ชื่อว่าที่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ ก็เป็นธรรมดาที่จะได้พบเห็นสิ่งต่าง ๆ  เป็นที่น่าปรารถนาบ้าง ไม่ปรารถนาบ้าง  เรียกว่า  โลกธรรม  แปลว่า  ธรรมสำหรับโลก  ส่วนที่น่าปรารถนา  คือ  ได้ลาภ  ได้ยศ ได้ความสรรเสริญ  ได้สุข  ส่วนที่ไม่น่าปรารถนา  คือ  ขาดลาภ  ขาดยศ  ได้นินทา  ได้ทุกข์  เปรียบเหมือนคนเดินทางไปไหน ๆ  ก็ย่อมจะได้พบสิ่งต่าง ๆ  ในระหว่างทางที่น่าดูน่าชมบ้าง  ไม่น่าดูไม่น่าชมบ้าง
โลกธรรมนี้เป็นสิ่งที่จะพึงประสบชั่วเวลา ไม่ควรจะเก็บเอามาเป็นทุกข์เป็นเหตุทะเยอทะยาน หรือซบเซาด้วยอำนาจความยินดียินร้ายให้เกินกว่าที่ควรจะเป็น  เช่น  แสดงอาการด้วยกายหรือวาจาให้ปรากฏ  เมื่อทำเช่นนั้นไป  ก็แสดงความมีใจอ่อนแอของตนเองหาสมควรไม่
ผู้ไม่เลินเล่อ  คอยระวังไม่ให้โลกธรรมครอบงำใจ  จนถึงแสดงวิการให้ปรากฏ  เช่นนี้ได้ชื่อว่า ไม่ประมาทในธรรมที่มีสำหรับโลก ความมีสติรอบคอบประดับผู้มีศีล ให้มีความประพฤติดีงามขึ้น จึงได้ชื่อว่า  เป็นกัลยาณธรรมในสิกขาบทคำรบ 
คนผู้ตั้งอยู่ในกัลยาณธรรม  ได้ชื่อว่า  กัลยาณชน  คือคนมีความประพฤติดีงาม  ควรเป็นที่นิยมนับถือ  และเป็นเยี่ยงอย่างของคนทั้งปวง




๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙
เลือกอ่าน ธรรมศึกษาชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก
ตามลิงค์ด้านล่าง
ธรรมศึกษาชั้นตรี
ธรรมศึกษาชั้นโท
ธรรมศึกษาชั้นเอก
๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น