วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560

311 วิชา เรียงความแก้กระทู้ธรรม ธรรมศึกษาชั้นเอก




หลักเกณฑ์การเขียนกระทู้ธรรมชั้นเอก
เรียงความแก้กระทู้ธรรม คือ การแสดงความคิดความรู้สึกของผู้เขียนออกมา โดยการพูดหรือเขียนเป็นหนังสือ เพื่อให้ผู้อ่านผู้ฟังได้เข้าใจความคิด ความรู้สึกที่ผู้เขียนได้แสดงออก เรียงความจะดีหรือไมเพียงไร ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของผู้เขียน การเข้าใจหลักเกณฑ์การเรียงความอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้เขียนเรียงความได้ดี เพราะการเรียงความเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง จึงจำเป็นจะต้องอาศัยความชำนาญของผู้เขียนอีกด้วย อย่างไรก็ตามการเข้าใจหลักเกณฑ์ย่อมจะช่วยให้เรียงความดีขึ้นกว่าโดยไม่เข้าใจในหลักเกณฑ์

หลักเกณฑ์ที่สำคัญของเรียงความแก้กระทู้ธรรมที่จำเป็นต้องศึกษามี ๓ ประการ คือ
  • ๑. ตีความหมาย
  • ๒. ขยายความให้ชัดเจน
  • ๓. ตั้งเกณฑ์อธิบาย
ตีความหมาย คือ การให้คำจำกัดความของข้อธรรมที่ตั้งไว้ ว่าสุภาษิตนี้ มีความหมายอย่างไร อธิบายตามเนื้อความ เช่น
ยาทิสํ กุรุเต มิตฺตํ         ยาทิสํสญฺจูปเสวติ
โสปิ ตาทิสโก โหติ      สหวาโส หิ ตาทิโส.
บุคคลคบคนเช่นใดเป็นมิตรและส้องเสพสนิทคนเช่นใด
เขาก็เป็นคนเช่นนั้น เพราะการอยู่ร่วมกันย่อมเป็นเช่นนั้น

เนื้อความในคาถานี้ “กล่าวถึงการเลือกคบคนดีและคนชั่ว”

ขยายความให้ชัดเจน ได้แก่ การขยายเนื้อความของคำ ซึ่งได้ให้ความหมายไว้แล้ว คือ กุศลกรรมบถ และอกุศลกรรมบถ ว่ามีอย่าละ ๑๐ ประการ เป็นต้น

ตั้งเกณฑ์อธิบาย ได้แก่ การวางโครงร่างที่จะอธิบายเนื้อความของข้อ ๒ ว่า มีอะไรบ้าง มีอะไรเป็นมูลเหตุทำให้เกิดขึ้น มีผลดีผลเสียอย่างไร มีข้อเปรียบเทียบหรือมีตัวอย่างมาประกอบให้เห็นเด่นชัดได้หรือไม่ และควรจะนับถึงผลกรรมนั้นๆ อย่างไร จึงจะทำให้ผู้อ่าน ผู้ฟังคล้อยตาม โดยเรียงเป็นลำดับขั้นตอนก่อนหลังไม่สับสนวกไปวนมา



อนึ่ง นอกจากหลักเกณฑ์สำคัญทั้ง ๓ ประการดังกล่าวแล้ว เรียงความโดยทั่วไปจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ ๓ ประการ คือ
  • ๑. คำนำ
  • ๒. เนื้อเรื่อง
  • ๓. คำลงท้าย
คำนำ นับว่าเป็นตอนเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด เพราะการเขียนคำนำที่ดี ก็จะสามารถชักจูงจิตใจของผู้อ่านให้ติดตามอ่านเรียงความต่อไปจนจบ หากเริ่มต้นคำนำแบบจืดชืด ก็จะไม่เกิดประทับใจผู้อ่าน แต่คำนำของเรียงความแก้กระทู้ธรรม โดยมากจะเขียนไปในแนวอารัมภบทพจนาคาถา เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของผู้อ่าน คำนำของเรียงความแก้กระทู้ธรรมนั้น ควรเขียนประมาณ ๓-๔ บรรทัด กำลังพอดี

เนื้อเรื่อง หมายถึง เรียงความแก้กระทู้ธรรมนั้นๆ จะต้องให้เนื้อหาสาระที่สำคัญแก่ผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านได้คุณค่าในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา ความรู้ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ฯลฯ โดยลำดับเนื้อหาสาระให้ต่อเนื่อง เป็นเหตุเป็นผลกันไป ไม่ทำให้ผู้อ่านสับสนไขว้เขว เนื้อเรื่องของเรียงความแก้กระทู้ธรรมนั้น ควรเขียนประมาณ ๑๕-๒๐ บรรทัด กำลังพอดี เมื่อเขียนอธิบายความของเนื้อเรื่องมาพอสมควรแล้วก็นำเอาข้อธรรม หรือ กระทู้รับ ที่มีเนื้อความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน กับ เนื้อเรื่องที่เขียนมาอ้างรับรองเป็นหลักฐานแล้ว อธิบายความของกระทู้รับนั้นต่อไป โดยกระทู้รับควรเขียนประมาณ ๕-๗ บรรทัดกำลังพอดี

คำลงท้าย หมายถึง การรวบรวมใจความที่สำคัญของเนื้อเรื่องที่ได้อธิบายมาตั้งแต่ต้น มาสรุปไว้อย่างย่อๆ โดยให้มีหลักคติธรรมนำไปประพฤติปฏิบัติตามได้ เพราะว่าคำลงท้ายที่ดีย่อมเป็นเสน่ห์อย่างยิ่งของเรียงความแก้กระทู้ธรรม ทำให้ผู้อ่านเกิดความชำนาญ ซาบซึ้งและรู้สึกว่าเรียงความที่อ่านมีคุณค่าน่าเชื่อถือ น่าปฏิบัติตาม เกิดศรัทธาในความคิดของผู้เขียน และเรียงความนั้นจะได้คะแนนดีอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งสรุปความควรเขียนประมาณ ๕-๖ บรรทัดกำลังพอดี



ลำดับการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรมชั้นโท ๑๖ ข้อ ดังนี้
๑. เขียน สุภาษิตบทตั้ง-พร้อมคำแปล
๒. เขียน คำนำ “บัดนี้ จักได้อธิบาย...สืบต่อไป
๓. เขียน อธิบายสุภาษิตบทตั้ง ๘-๑๕ บรรทัด
๔. เขียน บอกที่มาสุภาษิตเชื่อมสมดังสุภาษิตที่มาใน..........ว่า
๕. เขียน สุภาษิตเชื่อม/พร้อมคำแปล
๖. เขียน อธิบายสุภาษิตเชื่อม ประมาณ ๘-๑๕ บรรทัด
๗. เขียน บอกที่มาสุภาษิตเชื่อม สมดังสุภาษิตที่มาใน..........ว่า
๘. เขียน สุภาษิตเชื่อม/พร้อมคำแปล
๙. เขียน อธิบายสุภาษิตเชื่อม ประมาณ ๘-๑๕ บรรทัด
๑๐. เขียน บอกที่มาสุภาษิตเชื่อม สมดังสุภาษิตที่มาใน..........ว่า
๑๑. เขียน สุภาษิตเชื่อม/พร้อมคำแปล
๑๒. เขียน อธิบายสุภาษิตเชื่อม ประมาณ ๘-๑๕ บรรทัด
๑๓. เขียน สรุปความประมาณ ๕-๗ บรรทัด
๑๔. เขียน ปิดท้ายสรุปว่า “สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นว่า
๑๕. เขียน ให้ยกสุภาษิตบทตั้งพร้อมคำแปล มาเขียนปิด
๑๖. เขียน ปิดกระทู้ธรรมด้วย “มีนัยดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้

สำคัญ : ผู้ที่สอบเขียนเรียงความกระทู้ธรรมชั้นเอก ให้ถูกต้องตามโครงสร้างกระทู้ธรรม จะต้องเขียนตาม
ลำดับการเขียนทั้ง ๑๖ ข้อเบื้องต้นนี้ หากขาดข้อใดหนึ่งนั้นหมายถึงเรียงความแก้กระทู้ธรรมนั้นไม่สมบูรณ์ 
เป็นเหตุให้ผู้สอบเสียคะแนนโดยไม่จำเป็น

ตัวอย่างการเขียนกระทู้ธรรมชั้นเอก ในใบตอบสนามหลวง

 




วิธีการแต่งเรียงความแก้กระทู้ธรรม

วิธีการแต่งเรียงความแก้กระทู้ธรรม
การแต่งกระทู้ธรรมมี ๒ แบบ ดังต่อไปนี้คือ
๑. แบบตั้งวง คือ อธิบายความหมายของคำข้อนั้นๆ เสียก่อน แล้วจึงขยายความต่อไป
๒. แบบตีวง คือ บรรยายเนื้อความไปก่อนแล้ว จึงวกเข้าหาความหมายของกระทู้ธรรมนั้น
วิธีการแต่งทั้ง ๒ แบบนี้ โดยมากผู้แต่งนิยมใช้ แบบที่ ๑ คือ อธิบายความหมายก่อนแล้วจึงขยายความให้ชัดเจนต่อไป

การใช้ภาษา
ในการเขียนแก้กระทู้ธรรมนั้น ผู้เขียนจะต้องพิถีพิถัน ในด้านการใช้ภาษาให้มากจะต้องเขียนอย่างประณีต ไม่ใช่เขียนเพื่อให้เต็มๆ หน้าเท่านั้น ต้องคำนึงภาษาที่ใช้ด้วย กล่าวคือ ภาษาที่ใช้จะต้องเป็นภาษาเขียน ไม่ใช่เขียนด้วยภาษาพูด เช่น ไม่ควรใช้คำว่า “ชั้น” ในที่ที่ควรเขียน “ฉัน” หรือ “เค้า” ในที่ที่ควรเขียนว่า “เขา” ไม่ควรเขียนว่า “เป็นไง” แทนคำว่า “เป็นอย่างไร” เป็นต้น และไม่ควรเขียนแบบใช้ภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ ซึ่งบางทีผู้เขียนอาจเห็นว่า ถ้าเขียนเช่นนั้นแสดงว่าตนเป็นผู้มีความรู้สูง แต่นั้นหาชื่อว่าเป็นการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรมที่ดีไม่ การเขียนเรียงความก็ควรให้เป็นไปตามลำดับก่อนหลังไม่วกไปวนมาจนน่าเวียนหัว

เพราะฉะนั้น ในเวลาเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรมข้อใดก็ตาม ผู้หัดเขียนใหม่ๆ วางโครงเรื่องที่จะเขียนให้ดีเสียก่อน แล้วเขียนให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนของเรื่องที่วางไว้ เรื่องการใช้ภาษาในการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรมนั้นสรุปเพื่อจำง่ายๆ ได้ว่า
  • ๑. ต้องใช้ภาษาเขียนที่ถูกต้อง โดยมีประธาน กริยา หรือประธาน กริยา กรรม อย่างสมบูรณ์
  • ๒. ไม่ใช้ภาษาตลาด ภาษาสแลง ภาษาคำผวน
  • ๓. ไม่ใช้ภาษาพื้นเมืองหรือภาษาท้องถิ่น
  • ๔. ไม่ใช้ภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ
การเขียนเรียงความภาษาไทยโดยทั่วไป ใช้สำนวนหรือโวหารได้หลายแบบ เช่น บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร เทศนาโวหาร เป็นต้น แล้วแต่ผู้เขียนจะมีความสามารถใช้โวหารแบบใด ส่วนเรียงความแก้กระทู้ธรรมนั้น นิยมใช้เทศนาโวหาร ซึ่งเป็นสำนวนที่ใช้แสดงหรืออธิบายข้อความให้กว้างขวางออกไป โดยหาเหตุผลหรือหลักฐานมาประกอบอ้างอิงตามความรู้ความเห็นของผู้แต่ง ด้วยความมุ่งหมายจะให้ผู้อ่านผู้ฟังได้เข้าใจความหมายอย่างชัดเจนและเพื่อให้เห็นจริง เห็นดี เห็นชอบ เชื่อถือตามเป็นข้อสำคัญ

เทศนาโวหาร นั้นมีการเขียน ดังนี้
๑. ข้อความที่เขียนจะต้องมีเหตุผลใช้หลักฐานอ้างอิงได้
๒. มีอุทาหรณ์และหลักคติธรรม
๓. ผู้เขียนจะต้องแสงดให้เห็นว่า คนมีลักษณะและคุณสมบัติพอเป็นที่เชื่อถือได้



ความกลมกลืนของเนื้อความและอรรถรส
เนื่องจากวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง จึงจำเป็นต้องอาศัยความสามารถและความชำนาญของผู้เขียนที่จะเขียนเรียงความเรื่องๆ โดยให้สาระสำคัญแก่ผู้อ่าน ผู้ฟัง ทำให้ผู้อ่านผู้ฟังได้คุณค่าในด้านต่างๆ คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป ไม่ทำให้ผู้อ่าน ผู้ฟังสับสนไขว้เขว โดยการนำเอาเนื้อความที่ไม่จำเป็นไม่น่าสนใจมาบรรจุไว้

นอกจากเนื้อหาสาระจะสมบูรณ์แล้ว ยังจะต้องมีความหมายชัดเจนแจ่มแจ้งไม่คลุมเครืออีกด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องความเรื่องหนึ่งๆ จะต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความมุ่งหมายเพียงอย่างเดียว คือจะต้องอธิบายเนื้อความให้อยู่ในขอบข่ายของหัวเรื่องที่ได้ตั้งเอาไว้ ไม่นำเรื่องอื่นมาพูด หากมีความจำเป็นก็ต้องเลือกเรื่องที่มีความเกี่ยวข้อง หรือทำให้เรื่องเดิมเด่นชัดยิ่งขึ้น

อีกประการหนึ่ง ผู้เขียนจำเป็นจะต้องศึกษาหาความรู้ในเนื้อหาเป็นอย่างดี และนำเสนอตามลำดับขั้นตอนให้ต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผลกันไปตั้งแต่ต้นจนจบ กล่าวคือ ใจความของเรียงความนั้น จะต้องเกี่ยวโยงประดุจลูกโซ่

เรียงความแก้กระทู้ธรรมที่ดี นอกจากเนื้อความจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสัมพันธ์กันแล้ว ผู้เขียนต้องเข้าใจจิตวิทยาในการใช้ภาษา กล่าวคือ การสร้างความงามในการใช้ภาษา เช่น ลายมือ ความสะอาด การจัดย่อหน้า การใช้คำ การเรียบเรียงประโยค สำนวนโวหาร และแบบของการเขียน เพื่อให้เกิดความไพเราะน่าอ่าน ทำให้ผู้อื่นผู้ฟังเกิดความพอใจ ประทับใจ



ความสมบูรณ์ของกระทู้พร้อมด้วยอุปมาและสาธก
เรียงความกระทู้ธรรมที่ได้คะแนนน้อยนั้น ส่วนมากจะมีข้อบกพร่องต่างๆ หลายประการ เช่น อธิบายเนื้อความของกระทู้ธรรมผิดจากความมุ่งหมายของกระทู้ธรรมนั้นบ้าง อธิบายความสับสวนวกไปวนมาไม่มีสรุป ความใช้ภาษาไม่ถูกต้องและใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม นอกจากนั้นแล้วยังมีข้อบกพร่องซึ่งประกอบด้วยลักษณะต่างๆ อีก คือ
  • ๑. ไม่อ้างกระทู้ธรรมมาเชื่อมข้อความที่แต่ง หรือไม่มีกระทู้รับ
  • ๒. อธิบายความไม่สมเหตุสมผลกับกระทู้ธรรมที่ตั้งไว้
  • ๓. เขียนข้อความโดยการไม่มีเว้นวรรคตอน หรือเว้นระยะวรรคตอนไม่ถูกต้อง
  • ๔. เขียนข้อความโดยไม่มีย่อหน้าหรือย่อหน้าตามความพอใจ โดยยังไม่ทันสิ้นกระแสความ
  • ๕. นำกระทู้ธรรมมาเชื่อม โดยไม่อ้างถึงข้อความของกระทู้นั้นก่อน
  • ๖. ไม่บอกชื่อคัมภีร์ที่มาของกระทู้ธรรมที่นำมารับ หรือบอกชื่อคัมภีร์ผิดพลาด
  • ๗. เขียนคำบาลีและคำภาษาไทยไม่ถูกต้องหรือขาดตกบกพร่อง
  • ๘. เขียนตัวสะกด การันต์ ผิดพลาด
  • ๙. เขียนหนังสือสกปรก โดยมีการขีดฆ่า ขูดลบ ปรากฏอยู่ทั่วไป
อนึ่ง เรียงความแก้กระทู้ธรรมที่ดี นอกจากไม่มีข้อบกพร่อง ดังกล่าวแล้วนั้น ผู้แต่งควรนำอุปมาและสาธกยกมาประกอบข้อความที่แต่งด้วย

อุปมา คือการใช้ข้อความเปรียบเทียบเพื่อให้ผู้อ่านผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น โดยไม่ขัดกับเรื่องที่แต่งและมีความเหมาะสมกัน อุปมานั้นต้องคู่กับอุปไมยเสมอ เช่น ครูเปรียบเสมือนเรือจ้าง ชาวนาเปรียบเหมือนกระดูกสันหลังของชาติ ใจบุญเหมือนพระเวสสันดร เป็นต้น

สาธก คือ การยกตัวอย่างหรือยกนิทานชาดกมาประกอบข้อความที่แต่งเพื่อให้แจ่มแจ้งเห็นจริง โดยยกมาหมดทั้งเรื่อง ตัดตอนมาเฉพาะบางส่วนซึ่งมีความสัมพันธ์กับกระทู้ธรรมที่แต่งหรือให้เหลือเพียงสั้นๆ เฉพาะตอนที่สำคัญ

พุทธศาสนสุภาษิต ๓ : ธรรมศึกษาชั้นเอก




จิตตวรรค คือ หมวดจิต
บท
สุภาษิต
ความหมาย
มาในคัมภีร์
อนวสฺสุตจิตฺตสฺส   อนนฺวาหตเจตโส
ปุญฺญปาปปหีนสฺส  นตฺถิ ชาครโต ภยํ
ผู้มีจิตอันไม่ชุ่มด้วยราคะ มีใจอันโทสะไม่กระทบแล้ว
มีบุญและบาปอันละได้แล้ว ตื่นอยู่ ย่อมไม่มีภัย.
ขุททกนิกาย ธรรมบท
กุมฺภูปมํ  กายมิมํ  วิทิตฺวา
นครูปมํ  จิตฺตมิทํ  ถเกตฺวา
โยเธถ    มารํ    ปญฺญาวุเธน
ชิตญฺจ   รกฺเข    อนิเวสโน สิยา
บุคคลรู้กายนี้ที่เปรียบด้วยหม้อ กั้นจิตที่เปรียบด้วยเมืองนี้แล้วพึงรบมารด้วยอาวุธคือปัญญา และพึงรักษาแนวที่ชนะไว้ ไม่พึงยับยั้งอยู่.
ขุททกนิกาย ธรรมบท
จิตฺเตน นียติ โลโก   จิตฺเตน ปริกสฺสติ
จิตฺตสฺส เอกธมฺมสฺส  สพฺเพว วสมนฺวคู
โลกถูกจิตนำไป ถูกจิตชักไป, สัตว์ทั้งปวงไปสู่อำนาจแห่งจิตอย่างเดียว.
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
ตณฺหาธิปนฺนา  วตฺตสีลพทฺธา
ลูขํ ตปํ วสฺสสตํ  จรนฺตา
จิตฺตญฺจ เนสํ น สมฺมา วิมุตฺตํ
หีนตฺตรูปา น ปารงฺคมา เต
ผู้ถูกตัณหาครอบงำ ถูกศีลพรตผูกมัด ประพฤติตบะอันเศร้าหมองตั้งร้อยปี, จิตของเขาก็หลุดพ้นด้วยดีไม่ได้. เขามีตนเลวจะถึงฝั่งไม่ได้.
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
ทุนฺนิคฺคหสฺส ลหุโน  ยตฺถ กามนิปาติโน
จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ  จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ
การฝึกจิตที่ข่มยาก ที่เบา มักตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่ เป็นความดี, (เพราะว่า) จิตที่ฝึกแล้ว นำสุขมาให้.
ขุททกนิกาย ธรรมบท
ปทุฏฺฐจิตฺตสฺส น ผาติ โหติ
น จาปิ นํ เทวตา ปูชยนฺติ
โย ภาตรํ เปตฺติกํ สาปเตยฺยํ
อวญฺจยี ทุกฺกฏกมฺมการี
ผู้ใดทำกรรมชั่ว ล่อลวงเอาทรัพย์สมบัติพี่น้องพ่อแม่ ผู้นั้นมีจิตชั่วร้าย ย่อมไม่มีความเจริญ แม้เทวดาก็ไม่บูชาเขา.
ขุททกนิกาย ชาตก
ติกนิปาต
ภิกฺขุ สิยา ฌายิ วิมุตฺตจิตฺโต
อากงฺเข เว หทยสฺสานุปตฺตึ
โลกสฺส ญตฺวา อุทยพฺพยญฺจ
สุเจตโส อนิสฺสิโต ตทานิสํโส
ภิกษุเพ่งพินิจ มีจิตหลุดพ้น รู้ความเกิดและความเสื่อมแห่งโลกแล้ว มีใจดี ไม่ถูกกิเลสอาศัย มีธรรมนั้นเป็นอานิสงส์ พึงหวังความบริสุทธิ์แห่งใจได้.
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
โย อลีเนน จิตฺเตน   อลีนมนโส นโร
ภาเวติ กุสลํ ธมฺมํ    โยคกฺเขมสฺส ปตฺติยา
ปาปุเณ อนุปุพฺเพน  สพฺพสํโยชนกฺขยํ
คนใดมีจิตไม่ท้อถอย มีใจไม่หดหู่ บำเพ็ญกุศลธรรม เพื่อบรรลุธรรมที่เกษมจากโยคะ พึงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวงได้.

ขุททกนิกาย ชาตก
เอกนิบาต
สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ      ยตฺถ กามนิปาตินํ
จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี  จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ
ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิตที่เห็นได้ยากนัก ละเอียดนัก มักตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่, (เพราะว่า) จิตที่คุ้มครองแล้ว นำสุข
ขุททกนิกาย ธรรมบท


ธัมมวรรค คือ สุภาษิตหมวดธรรม
ที่
สุภาษิต
คำแปล
มาในคัมภีร์
อตฺถงฺคตสฺส น ปมาณมตฺถิ
เยน นํ วชฺชึ ตํ ตสฺส นตฺถิ
สพฺเพสุ ธมฺเมสุ สมูหเตสุ
สมูหตา วาทปถาปิ สพฺเพ.
ท่านผู้ดับไป (คือปรินิพพาน) แล้ว ไม่มีประมาณ, จะพึงกล่าวถึงท่านนั้นด้วยเหตุใด เหตุนั้นของท่านก็ไม่มี, เมื่อธรรมทั้งปวง (มีขันธ์เป็นต้น) ถูกเพิกถอนแล้ว แม้คลองแห่งถ้อยคำที่จะพูดถึง (ว่าผู้นั้นเป็นอะไร) ก็เป็นอันถูกเพิกถอนเสียทั้งหมด.
ขุททกนิกาย จูฬนิทฺเทส
อาทานตณฺหํ วินเยถ สพฺพํ
อุทฺธํ อโธ ติริยํ วาปิ มชฺเฌ
ยํ ยํ หิ โลกสฺมึ อุปาทิยนฺติ
เตเนว มาโร อนฺเวติ ชนฺตุํ.
พึงขจัดตัณหาที่เป็นเหตุถือมั่นทั้งปวง ทั้งเบื้องสูง เบื้องต่ำ
เบื้องขวาง ท่ามกลาง, เพราะเขาถือมั่นสิ่งใดๆ ในโลกไว้ มารย่อมติดตามเขาไป เพราะสิ่งนั้น ๆ
ขุททกนิกาย จูฬนิทฺเทส
อุจฺฉินฺท สิเนหมตฺตโน
กุมุทํ สารทิกํว ปาณินา
สนฺติมคฺคเมว พฺรูหย
นิพฺพานํ สุคเตน เทสิตํ.
จงเด็ดเยื่อใยของตนเสีย เหมือนเอาฝ่ามือเด็ดบัวในฤดูแล้ง จง
เพิ่มพูนทางสงบ (ให้ถึง) พระนิพพานที่พระสุคตแสดงแล้ว
ขุททกนิกาย ธรรมบท
โอวเทยฺยานุสาเสยฺย  อสพฺภา จ นิวารเย
สติ หิ โส ปิโย โหติ   อสตํ โหติ อปฺปิโย.
บุคคลควรเตือนกัน ควรสอนกัน และป้องกันจากคนไม่ดี
เพราะเขาย่อมเป็นที่รักของคนดี แต่ไม่เป็นที่รักของคนไม่ดี
ขุททกนิกาย ธรรมบท
กาเมสุ พฺรหฺมจริยวา  วีตตณฺโห สทา สโต
สงฺขาย นิพฺพุโต ภิกฺขุ  ตสฺส โน สนฺติ อิญฺชิตา.
ภิกษุผู้เห็นโทษในกาม มีความประพฤติประเสริฐ ปราศจาก
ตัณหา สติทุกเมื่อ พิจารณาแล้ว ดับกิเลสแล้ว ย่อมไม่มีความ
หวั่นไหว
ขุททกนิกาย จูฬนิทฺเทส
ขตฺติโย จ อธมฺมฏฺโฐ  เวสฺโส จาธมฺมนิสฺสิโต
เต ปริจฺจชฺชุโภ โลเก  อุปปชฺชนฺติ ทุคฺคตึ.
กษัตริย์ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม และแพศย์ [คนสามัญ] ไม่
อาศัยธรรม ชนทั้ง ๒ นั้นละโลกแล้ว ย่อมเข้าถึงทุคติ
ขุททกนิกาย ชาตก
ปญฺจกนิปาต
คตทฺธิโน วิโสกสฺส   วิปฺปมุตฺตสฺส สพฺพธิ
สพฺพคนฺถปฺปหีนสฺส  ปริฬาโห น วิชฺชติ.
ท่านผู้มีทางไกลอันถึงแล้ว หายโศก หลุดพ้นแล้วในธรรม
ทั้งปวง ละกิเลสเครื่องรัดทั้งปวงแล้ว ย่อมไม่มีความเร่าร้อน
ขุททกนิกาย ธรรมบท
จเช ธนํ องฺควรสฺส เหตุ
องฺคํ จเช ชีวิตํ รกฺขมาโน
องฺคํ ธนํ ชีวิตญฺจาปิ สพฺพํ
จเช นโร ธมฺมมนุสฺสรนฺโต.
พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ,เมื่อรักษาชีวิตพึงสละอวัยวะ,
เมื่อคำนึงถึงธรรม พึงสละอวัยวะ ทรัพย์ และแม้ชีวิต ทุกอย่าง
ขุททกนิกาย ชาตก
อสีตินิปาต
ฉนฺทชาโต อนกฺขาเต   มนสา จ ผุโฐ สิยา
กาเม จ อปฏิพทฺธจิตฺโต อุทฺธํโสโตติ วุจฺจติ.
พึงเป็นผู้พอใจและประทับใจในพระนิพพานที่บอกไม่ได้ ผู้มีจิตไม่ติดกาม ท่านเรียกว่าผู้มีกระแสอยู่เบื้องบน
ขุททกนิกาย ธรรมบท
๑๐
ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา  สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา
เอตํ ตฺวา ยถาภูตํ    นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ.
ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง รู้ข้อนั้น
ตามเป็นจริงแล้ว ดังเสียได้ เป็นสุขอย่างยิ่ง.
ขุททกนิกาย ธรรมบท
๑๑
เต ฌายิโน สาตติกา   นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกมา
ผุสนฺติ ธีรา นิพฺพานํ   โยคกุเขมํ อนุตฺตรํ.
ผู้ฉลาดนั้นเป็นผู้เพ่งพินิจ มีเพียรติดต่อ บากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์ย่อมถูกต้องพระนิพพานอันปลอดจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้
ขุททกนิกาย ธรรมบท
๑๒
นนฺทิสญฺโ ญชโน โลโก  วติ กฺกสฺส วิจารณา
ตณฺหาย วิปฺปหาเนน   นิพฺพานํ อิติ วุจฺจติ.
สัตว์โลกมีความเพลินเป็นเครื่องผูกพัน มีวิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปท่านเรียกว่านิพพาน เพราะละตัณหาได้
ขุททกนิกาย จูฬนิทฺเทส



วิริยวรรค คือ หมวดความเพียร
บท
สุภาษิต
ความหมาย
มาในคัมภีร์
โกสชฺชํ ภยโต ทิสฺวา   วิริยารมฺภญฺจ เขมโต
อารทฺธวิริยา โหถ     เอสา พุทฺธาสาสนี.
ท่านทั้งหลายจงเห็นความเกียจคร้านเป็นภัย และเห็นการปรารภความเพียรเป็นความปลอดภัย แล้วปรารภความเพียรเถิด นี้เป็นพุทธานุศาสนี.
ขุททกนิกาย จริยาปิฎก
ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ   อกฺขาตาโร ตถาคตา
ปฏิปนฺนา ปโมกฺขนฺติ   ฌายิโน มารพนฺธนา
ท่านทั้งหลายต้องทำความเพียรเอง ตถาคตเป็นแต่ผู้บอก ผู้มีปกติเพ่งพินิจดำเนินไปแล้ว จักพ้นจากเครื่องผูกของมาร.
ขุททกนิกาย ธรรมบท
นิทฺทํ ตนฺทึ วิชิมฺหิตํ    อรตึ ภตฺตสมฺมทํ
วิริเยน นํ ปณาเมตฺวา  อริยมคฺโค วิสุชฺฌติ
อริยมรรคย่อมบริสุทธิ์ เพราะขับไล่ความหลับ ความเกียจคร้านความบิดขี้เกียจ ความไม่ยินดี และความเมาอาหารนั้นได้ด้วยความเพียร.
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
โย จ วสฺสสตํ ชีเว    กุสีโต หีนวีริโย
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย  วิริยํ อารภโต ทฬฺหํ.
ผู้ใดเกียจคร้าน มีความเพียรเลว พึงเป็นอยู่ตั้งร้อยปี แต่ผู้
ปรารภความเพียรมั่นคง มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ประเสริฐกว่าผู้นั้น.
ขุททกนิกาย ธรรมบท
สพฺพทา สีลสมฺปนฺโน   ปญฺญวา สุสมาหิโต
อารทฺธวิริโย ปหิตตฺโต  โอฆํ ตรติ ทุตฺตรํ.
ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล มีปัญญา มีใจมั่นคงดีแล้ว ปรารภความ
เพียร ตั้งตนไว้ในกาลทุกเมื่อ ย่อมข้ามโอฆะที่ข้ามได้ยาก.
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค


สามัคคีวรรค คือ หมวดความสามัคคี
บท
สุภาษิต
ความหมาย
มาในคัมภีร์
วิวาทํ ภยโต ทิสฺวา   อวิวาทญฺจ เขมโต
สมคฺคา สขิลา โหถ   เอสา พุทฺธานุสาสนี.
ท่านทั้งหลายจงเห็นความวิวาทโดยความเป็นภัย และความไม่วิวาทโดยความปลอดภัยแล้ว เป็นผู้พร้อมเพรียง มีความประนีประนอมกันเถิด. นี้เป็นพระพุทธานุศาสนี.
ขุททกนิกาย จริยาปิฎก
สามคฺยเมว สิกฺเขถ    พุทฺเธเหตํ ปสํสิตํ
สามคฺยรโต ธมฺมฏฺโฐ   โยคกฺเขมา น ธํสติ
พึงศึกษาความสามัคคี, ความสามัคคีนั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลาย
สรรเสริญแล้ว, ผู้ยินดีในสามัคคี ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่คลาดจากธรรมอันเกษมจากโยคะ.
ขุททกนิกาย ชาตก เตรสนิปาต
สุขา สงฺฆสฺส สมมคฺคี สมคฺคานญฺจนุคฺคโห
สมคฺครโต ธมฺมฏฺโฐ   โยคกฺเขมา น ธํสติ
ความพร้อมเพรียงของหมู่เป็นสุข และการสนับสนุนคนผู้พร้อมเพรียงกันก็เป็นสุข, ผู้ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน ตั้งอยู่ในธรรมย่อมไม่คลาดจากธรรมอันเกษมจากโยคะ.
ขุททกนิกาย อิติวุตฺตก


อัปปมาทวรรค คือ หมวดไม่ประมาท
บท
สุภาษิต
ความหมาย
มาในคัมภีร์
อปฺปมตฺตา สตีมนฺโต  สุสีลา โหถ ภิกฺขโว
สุสมาหิตสงฺกปฺปา     สจิตฺตมนุรกฺขถ.
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลดีงามตั้งความดำริไว้ให้ดี คอยรักษาจิตของตน.
ทีฆนิกาย มหาวคฺค
อปฺปมาทรตา โหถ     สจิตฺตมนุกฺขถ
ทุคฺคา อุทฺธรถตฺตานํ  ปงฺเก สนฺโนว กุญฺชโร
ท่านทั้งหลาย จงยินดีในความไม่ประมาท คอยรักษาจิตของตน,
จงถอนตนขึ้นจากหล่ม เหมือนช้างที่ตกหล่มถอนตนขึ้นฉะนั้น.
ขุททกนิกาย ธรรมบท
อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ  ปมาเท ภยทสฺสิ วา
สญฺโญชนํ อณุํ ถูลํ  ฑหํ อคฺคีว คจฺฉติ.
ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท หรือเห็นภัยในความประมาทย่อมเผาสังโยชน์น้อยใหญ่ไป เหมือนไฟไหม้เชื้อน้อยใหญ่ไปฉะนั้น.
ขุททกนิกาย ธรรมบท
อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ  ปมาเท ภยทสฺสิ วา
อภพฺโพ ปริหานาย  นิพฺพานสฺเสว สนฺติเก.
ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท หรือเห็นภัยในความประมาทเป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะเสื่อม (ชื่อว่า) อยู่ใกล้พระนิพพานทีเดียว.
ขุททกนิกาย ธรรมบท
เอวํวิหารี  สโต  อปฺปมตฺโต
ภิกฺขุ จรํ หิตฺวา มมายิตานิ
ชาติชรํ โสกปริทฺทวญฺจ
อิเธว วิทฺวา ปชเหยฺย ทุกฺขํ.
ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ละความถือมั่นว่าของเราได้แล้วเที่ยวไป เป็นผู้รู้ พึงละชาติ ชรา โสกะปริเทวะ และทุกข์ ในโลกนี้ได้.
ขุททกนิกาย สุตฺตนิบาต
อุฏฺฐาเนนปฺปมาเทน  สญฺญเมน ทเมน จ
ทีปํ กยิราถ เมธาวี   ยํ โอโฆ นาภิกีรติ.
คนมีปัญญา พึงสร้างเกาะ ที่น้ำหลากมาท่วมไม่ได้ ด้วยความหมั่น ความไม่ประมาท ความสำรวม และความข่มใจ.
ขุททกนิกาย ธรรมบท

หลักปฏิบัติในการสอบกระทู้ธรรมสนามหลวง
ผู้จะสอบวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม จำเป็นจะต้องทราบหลักปฏิบัติในการแต่งเรียงความแก้กระทู้ก่อน ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติในการสอบสนามหลวง และท่านผู้สอบจะต้องปฏิบัติตาม ดังนี้

ในชั้นธรรมศึกษาตรี ดังนี้
  • ๑. แต่งตามกระทู้ธรรมสุภาษิตที่กำหนดให้
  • ๒. อธิบายขยายเนื้อความกระทู้ธรรมสุภาษิตนั้นให้สมเหตุสมผล
  • ๓. อ้างสุภาษิตบทอื่นพร้อมทั้งอ้างที่มา มาอธิบายประกอบด้วย ๑ สุภาษิต
  • ๔. เชื่อมความระหว่างสุภาษิตที่นำมาเชื่อมกับสุภาษิตบทตั้งให้สนิทติดต่อสมเรื่องกันด้วยเหตุผล
  • ๕. ให้เขียนลงในกระดาษสอบตั้งแต่ ๒ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป

ในชั้นธรรมศึกษาโท ดังนี้
  • ๑. แต่งตามกระทู้ธรรมสุภาษิตที่กำหนดให้
  • ๒. อธิบายขยายเนื้อความกระทู้ธรรมสุภาษิตนั้นให้สมเหตุสมผล
  • ๓. อ้างสุภาษิตบทอื่นพร้อมทั้งอ้างที่มา มาอธิบายประกอบด้วย ๒ สุภาษิต
  • ๔. เชื่อมความระหว่างสุภาษิตที่นำมาเชื่อมกับสุภาษิตบทตั้งให้สนิทติดต่อสมเรื่องกันด้วยเหตุผล
  • ๕. ให้เขียนลงในกระดาษสอบตั้งแต่ ๓ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป

ในชั้นธรรมศึกษาเอก ดังนี้
  • ๑. แต่งตามกระทู้ธรรมสุภาษิตที่กำหนดให้
  • ๒. อธิบายขยายเนื้อความกระทู้ธรรมสุภาษิตนั้นให้สมเหตุสมผล
  • ๓. อ้างสุภาษิตบทอื่นพร้อมทั้งอ้างที่มา มาอธิบายประกอบด้วย ๓ สุภาษิต
  • ๔. เชื่อมความระหว่างสุภาษิตที่นำมาเชื่อมกับสุภาษิตบทตั้งให้สนิทติดต่อสมเรื่องกันด้วยเหตุผล
  • ๕. ให้เขียนลงในกระดาษสอบตั้งแต่ ๔ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป
เพื่อให้ผู้สอบเกิดความเข้าใจ และมองเห็นภาพมากขึ้น ในหลักปฏิบัติทั้ง ๕ ข้างต้นนั้น จึงอธิบายเพิ่มเติม ดังนี้

. แต่งตามกระทู้ธรรมสุภาษิตที่กำหนดให้
หมายถึงว่าให้ท่านอธิบายสุภาษิตที่สนามหลวงกำหนดเป็นโจทย์มาให้ (ภาษิตบทตั้ง) ..ไม่ใช่ว่าพอเห็นโจทย์สุภาษิตแล้วคิดว่ามันยากเลยตั้งโจทย์สุภาษิตบทตั้งขึ้นมาเองแล้วอธิบายแบบนี้ไม่ได้เด็ดขาด

. อธิบายขยายเนื้อความกระทู้ธรรมสุภาษิตนั้นให้สมเหตุสมผล
หมายถึงว่าการอธิบายเนื้อหาจะต้องมีสระที่สำคัญ มีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป มีตัวอย่างอ้างอิงให้เห็นภาพชัดเจน และให้มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันกับเรื่องที่ตนเองอธิบายอยู่นั้น ให้เกิดความน่าเชื่อถือแก่ผู้อ่านผู้ฟังให้ได้รับคุณค่า ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์นั้นเอง ไม่ใช่สุภาษิตเป็นเรื่องหนึ่ง ก็อธิบายไปอีกเรื่องหนึ่งแบบนี้ไม่ได้

. อ้างสุภาษิตบทอื่นพร้อมทั้งอ้างที่มา มาอธิบายประกอบด้วย
  • ธรรมศึกษาตรี กำหนดให้นำสุภาษิต ๑ ภาษิต พร้อมทั้งอ้างที่มา (มาในคัมภีร์อะไร) ของสุภาษิตนั้นด้วย
  • ธรรมศึกษาโท กำหนดให้นำสุภาษิต ๒ ภาษิต พร้อมทั้งอ้างที่มา (มาในคัมภีร์อะไร) ของสุภาษิตนั้นด้วย
  • ธรรมศึกษาเอก กำหนดให้นำสุภาษิต ๓ ภาษิต พร้อมทั้งอ้างที่มา (มาในคัมภีร์อะไร) ของสุภาษิตนั้นด้วย

. เชื่อมความระหว่างสุภาษิตที่นำมาเชื่อม กับสุภาษิตบทตั้งให้สนิทติดต่อสมเรื่องกันด้วยเหตุผล
หมายถึงว่าให้ท่านอธิบายเชื่อมความระหว่าสุภาษิตบทตั้งที่เป็นโจทย์ของสนามหลวง กับ สุภาษิตเชื่อมที่ท่านเตรียมมา ให้อธิบายเนื้อหาของสุภาษิตนั้นให้สนิทติดต่อกันเป็นเรื่องเป็นราวด้วยเหตุ ด้วยผล ซึ้งทั้งสุภาษิตบทตั้งกับสุภาษิตเชื่อม เนื้อหาควรจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสัมพันธ์กันด้วยดี

หมายเหตุ : กรณีสุภาษิตเชื่อม ซึ่งท่านอาจจะท่องเตรียมไว้กันลืมด้วย (ผู้สอบธรรมศึกษาตรี ท่องไว้อย่างต่ำ ๒ บท ธรรมศึกษาโทท่องไว้ ๒ บท และธรรมศึกษาเอกควรท่องไว้สัก ๔ บท/ภาษิต) ยิ่งจำสุภาษิตได้เยอะ ก็ยิ่งมีตัวเลือกใช้เชื่อมกระทู้ได้ดีกว่า

ที่สำคัญควรเลือกสุภาษิตที่มีความหมายหรือมีเนื้อความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ พูดเรื่องเดียวกกกัน หรือใกล้เคียงมากที่สุด ประโยชน์เพื่อการนำมาเชื่อมความอธิบายจะได้มีความสนิทติดต่อสมเรื่องกันด้วยเหตุด้วยผล

แต่ในกรณีที่สุภาษิตเชื่อมที่ท่องมา บังเอิญไม่มีสักสุภาษิตเลยที่เข้ากันหรือเชื่อมความกับสุภาษิตบทตั้งได้เลย ก็ให้เลือกสักสุภาษิตที่เตรียมไว้นั้นแหล่ะมาเชื่อมแล้วก็อธิบายดีๆ มีเหตุผลดีๆ นำข้อธรรมมากล่าวอ้าง พูดเชื่อมโยง มีเหตุมีผล ก็ถือว่าใช้ได้เช่นกัน

. ให้เขียนลงในกระดาษสอบ ตั้งแต่ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป
  • ผู้สอบธรรมศึกษาชั้นตรี สนามหลวงกำหนดให้เขียนลงใบกระดาษสอบตั้งแต่ ๒ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป
  • ผู้สอบธรรมศึกษาชั้นโท สนามหลวงกำหนดให้เขียนลงใบกระดาษสอบตั้งแต่ ๓ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป และกระทู้ที่จะนำมาเชื่อมนั้น ต้องไม่น้อยกว่า ๒ ข้อ แต่ละข้อต้องไม่น้อยกว่า ๑ คาถา (๑ คาถา มี ๔ บาท) จะนำมาเพียง ๑ บาท ๒ บาทไม่ได้
  • ผู้สอบธรรมศึกษาชั้นเอกให้นำคาถาเชื่อมอธิบาย ต้องไม่น้อยกว่า ๓ ข้อ/สุภาษิต แต่ละข้อให้ครบคาถา (๔ บาท) จะนำมาเพียง ๑ บาท ๒ บาท ไม่ได้ และกำหนดให้เขียนตั้งแต่ ๔ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป

สุดท้าย : ผู้เขียนจะต้องมีความประณีต ละเอียดอ่อน มีสติอยู่ในเสมอ ต้องใช้ความรู้จากวิชาอื่นมาประกอบ ความสามารถและประสบการในเรื่องการใช้ภาษา สำนวน โวหารและรู้จักเลือกคำเหมาะสม มีความลึกซึ้งเด่นชัด เร้าใจผู้อ่าน เขียนศัพท์สมความ เขียนงาม อ่านง่าย




๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙
เลือกอ่าน ธรรมศึกษาชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก
ตามลิงค์ด้านล่าง
ธรรมศึกษาชั้นตรี
ธรรมศึกษาชั้นโท
ธรรมศึกษาชั้นเอก
๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น