วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560

211 วิชา เรียงความแก้กระทู้ธรรม ธรรมศึกษาชั้นโท




เรียงความแก้กระทู้ธรรมในระดับชั้นโทนี้ สนามหลวงกำหนดให้เขียนลงใบกระดาษสอบตั้งแต่ ๓ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป และกระทู้ที่จะนำมาเชื่อมนั้น ต้องไม่น้อยกว่า ๒ ข้อ แต่ละข้อต้องไม่น้อยกว่า ๑ คาถา (๑ คาถา มี ๔ บาท) จะนำมาเพียง ๑ บาท ๒ บาทไม่ได้

หลักเกณฑ์การเขียนกระทู้ธรรมชั้นโท
เรียงความแก้กระทู้ธรรม คือ การแสดงความคิดความรู้สึกของผู้เขียนออกมา โดยการพูดหรือเขียนเป็นหนังสือ เพื่อให้ผู้อ่านผู้ฟังได้เข้าใจความคิด ความรู้สึกที่ผู้เขียนได้แสดงออก เรียงความจะดีหรือไมเพียงไร ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของผู้เขียน การเข้าใจหลักเกณฑ์การเรียงความอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้เขียนเรียงความได้ดี เพราะการเรียงความเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง จึงจำเป็นจะต้องอาศัยความชำนาญของผู้เขียนอีกด้วย อย่างไรก็ตามการเข้าใจหลักเกณฑ์ย่อมจะช่วยให้เรียงความดีขึ้นกว่าโดยไม่เข้าใจในหลักเกณฑ์

หลักเกณฑ์ที่สำคัญของเรียงความกระทู้ธรรม ที่จำเป็นต้องศึกษามี ๓ ประการ คือ
  • ๑. ตีความหมาย
  • ๒. ขยายความให้ชัดเจน
  • ๓. ตั้งเกณฑ์อธิบาย
ตีความหมาย คือ การให้คำจำกัดความของข้อธรรมที่ตั้งไว้ ว่า สุภาษิตนี้ มีความหมายอย่างไร อธิบายตามเนื้อความ เช่น
ยาทิสํ กุรุเต มิตฺตํ         ยาทิสญฺจูปเสวติ
โสปิ ตาทิสโก โหติ      สหวาโส หิ ตาทิโส.
บุคคลคบคนเช่นใดเป็นมิตรและส้องเสพสนิทคนเช่นใด
เขาก็เป็นคนเช่นนั้น เพราะการอยู่ร่วมกันย่อมเป็นเช่นนั้น

เนื้อความในคาถาข้างต้นนี้ กล่าวถึงการเลือกคบคนดีและคนชั่ว

ขยายความให้ชัดเจน ได้แก่ การขยายเนื้อความของคำ ซึ่งได้ให้ความหมายไว้แล้ว คือ กุศลกรรมบถ และอกุศลกรรมบถ ว่ามีอย่าละ ๑๐ ประการ เป็นต้น

ตั้งเกณฑ์อธิบาย ได้แก่ การวางโครงร่างที่จะอธิบายเนื้อความของข้อ ๒ ว่า มีอะไรบ้าง มีอะไรเป็นมูลเหตุทำให้เกิดขึ้น มีผลดีผลเสียอย่างไร มีข้อเปรียบเทียบหรือมีตัวอย่างมาประกอบให้เห็นเด่นชัดได้หรือไม่ และควรจะนับถึงผลกรรมนั้นๆ อย่างไร จึงจะทำให้ผู้อ่าน ผู้ฟังคล้อยตาม โดยเรียงเป็นลำดับขั้นตอนก่อนหลังไม่สับสนวกไปวนมา



อนึ่ง นอกจากหลักเกณฑ์สำคัญทั้ง ๓ ประการดังกล่าวแล้ว เรียงความโดยทั่วไปจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ ๓ ประการ คือ
  • ๑. คำนำ
  • ๒. เนื้อเรื่อง
  • ๓. คำลงท้ายหรือสรุป
คำนำ นับว่าเป็นตอนเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด เพราะการเขียนคำนำที่ดี ก็จะสามารถชักจูงจิตใจของผู้อ่านให้ติดตามอ่านเรียงความต่อไปจนจบ หากเริ่มต้นคำนำแบบจืดชืด ก็จะไม่เกิดประทับใจผู้อ่าน แต่คำนำของเรียงความแก้กระทู้ธรรม โดยมากจะเขียนไปในแนวอารัมภบทพจนาคาถา เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของผู้อ่าน คำนำของเรียงความแก้กระทู้ธรรมนั้น ควรเขียนประมาณ ๓-๔ บรรทัด กำลังพอดี

เนื้อเรื่อง หมายถึง เรียงความแก้กระทู้ธรรมนั้นๆ จะต้องให้เนื้อหาสาระที่สำคัญแก่ผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านได้คุณค่าในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา ความรู้ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ฯลฯ โดยลำดับเนื้อหาสาระให้ต่อเนื่อง เป็นเหตุเป็นผลกันไป ไม่ทำให้ผู้อ่านสับสนไขว้เขว เนื้อเรื่องของเรียงความแก้กระทู้ธรรมนั้น ควรเขียนประมาณ ๑๕-๒๐ บรรทัด กำลังพอดี เมื่อเขียนอธิบายความของเนื้อเรื่องมาพอสมควรแล้วก็นำเอาข้อธรรม หรือ กระทู้รับ ที่มีเนื้อความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน กับ เนื้อเรื่องที่เขียนมาอ้างรับรองเป็นหลักฐานแล้ว อธิบายความของกระทู้รับนั้นต่อไป โดยกระทู้รับควรเขียนประมาณ ๕-๗ บรรทัดกำลังพอดี

คำลงท้าย
หมายถึง การรวบรวมใจความที่สำคัญของเนื้อเรื่องที่ได้อธิบายมาตั้งแต่ต้น มาสรุปไว้อย่างย่อๆ โดยให้มีหลักคติธรรมนำไปประพฤติปฏิบัติตามได้ เพราะว่าคำลงท้ายที่ดีย่อมเป็นเสน่ห์อย่างยิ่งของเรียงความแก้กระทู้ธรรม ทำให้ผู้อ่านเกิดความชำนาญ ซาบซึ้งและรู้สึกว่าเรียงความที่อ่านมีคุณค่าน่าเชื่อถือ น่าปฏิบัติตาม เกิดศรัทธาในความคิดของผู้เขียน และเรียงความนั้นจะได้คะแนนดีอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งสรุปความควรเขียนประมาณ ๕-๗ บรรทัดกำลังพอดี

วิธีการแต่งเรียงความแก้กระทู้ธรรม

วิธีการแต่งเรียงความแก้กระทู้ธรรม
การแต่งกระทู้ธรรมมี ๒ แบบ ดังต่อไปนี้คือ
๑. แบบตั้งวง คือ อธิบายความหมายของคำข้อนั้นๆ เสียก่อน แล้วจึงขยายความต่อไป
๒. แบบตีวง คือ บรรยายเนื้อความไปก่อนแล้ว จึงวกเข้าหาความหมายของกระทู้ธรรมนั้น
วิธีการแต่งทั้ง ๒ แบบนี้ โดยมากผู้แต่งนิยมใช้ แบบที่ ๑ คือ อธิบายความหมายก่อนแล้วจึงขยายความให้ชัดเจนต่อไป

การใช้ภาษา
ในการเขียนแก้กระทู้ธรรมนั้น ผู้เขียนจะต้องพิถีพิถัน ในด้านการใช้ภาษาให้มากจะต้องเขียนอย่างประณีต ไม่ใช่เขียนเพื่อให้เต็มๆ หน้าเท่านั้น ต้องคำนึงภาษาที่ใช้ด้วย กล่าวคือ ภาษาที่ใช้จะต้องเป็นภาษาเขียน ไม่ใช่เขียนด้วยภาษาพูด เช่น ไม่ควรใช้คำว่า “ชั้น” ในที่ที่ควรเขียน “ฉัน” หรือ “เค้า” ในที่ที่ควรเขียนว่า “เขา” ไม่ควรเขียนว่า “เป็นไง” แทนคำว่า “เป็นอย่างไร” เป็นต้น และไม่ควรเขียนแบบใช้ภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ ซึ่งบางทีผู้เขียนอาจเห็นว่า ถ้าเขียนเช่นนั้นแสดงว่าตนเป็นผู้มีความรู้สูง แต่นั้นหาชื่อว่าเป็นการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรมที่ดีไม่ การเขียนเรียงความก็ควรให้เป็นไปตามลำดับก่อนหลังไม่วกไปวนมาจนน่าเวียนหัว

เพราะฉะนั้น ในเวลาเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรมข้อใดก็ตาม ผู้หัดเขียนใหม่ๆ วางโครงเรื่องที่จะเขียนให้ดีเสียก่อน แล้วเขียนให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนของเรื่องที่วางไว้ เรื่องการใช้ภาษาในการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรมนั้นสรุปเพื่อจำง่ายๆ ได้ว่า
  • ๑. ต้องใช้ภาษาเขียนที่ถูกต้อง โดยมีประธาน กริยา หรือประธาน กริยา กรรม อย่างสมบูรณ์
  • ๒. ไม่ใช้ภาษาตลาด ภาษาสแลง ภาษาคำผวน
  • ๓. ไม่ใช้ภาษาพื้นเมืองหรือภาษาท้องถิ่น
  • ๔. ไม่ใช้ภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ
การเขียนเรียงความภาษาไทยโดยทั่วไป ใช้สำนวนหรือโวหารได้หลายแบบ เช่น บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร เทศนาโวหาร เป็นต้น แล้วแต่ผู้เขียนจะมีความสามารถใช้โวหารแบบใด ส่วนเรียงความแก้กระทู้ธรรมนั้น นิยมใช้เทศนาโวหาร ซึ่งเป็นสำนวนที่ใช้แสดงหรืออธิบายข้อความให้กว้างขวางออกไป โดยหาเหตุผลหรือหลักฐานมาประกอบอ้างอิงตามความรู้ความเห็นของผู้แต่ง ด้วยความมุ่งหมายจะให้ผู้อ่านผู้ฟังได้เข้าใจความหมายอย่างชัดเจนและเพื่อให้เห็นจริง เห็นดี เห็นชอบ เชื่อถือตามเป็นข้อสำคัญ

เทศนาโวหาร นั้นมีการเขียน ดังนี้
๑. ข้อความที่เขียนจะต้องมีเหตุผลใช้หลักฐานอ้างอิงได้
๒. มีอุทาหรณ์และหลักคติธรรม
๓. ผู้เขียนจะต้องแสงดให้เห็นว่า คนมีลักษณะและคุณสมบัติพอเป็นที่เชื่อถือได้



ความกลมกลืนของเนื้อความและอรรถรส
เนื่องจากวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง จึงจำเป็นต้องอาศัยความสามารถและความชำนาญของผู้เขียนที่จะเขียนเรียงความเรื่องๆ โดยให้สาระสำคัญแก่ผู้อ่าน ผู้ฟัง ทำให้ผู้อ่านผู้ฟังได้คุณค่าในด้านต่างๆ คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป ไม่ทำให้ผู้อ่าน ผู้ฟังสับสนไขว้เขว โดยการนำเอาเนื้อความที่ไม่จำเป็นไม่น่าสนใจมาบรรจุไว้

นอกจากเนื้อหาสาระจะสมบูรณ์แล้ว ยังจะต้องมีความหมายชัดเจนแจ่มแจ้งไม่คลุมเครืออีกด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องความเรื่องหนึ่งๆ จะต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความมุ่งหมายเพียงอย่างเดียว คือจะต้องอธิบายเนื้อความให้อยู่ในขอบข่ายของหัวเรื่องที่ได้ตั้งเอาไว้ ไม่นำเรื่องอื่นมาพูด หากมีความจำเป็นก็ต้องเลือกเรื่องที่มีความเกี่ยวข้อง หรือทำให้เรื่องเดิมเด่นชัดยิ่งขึ้น

อีกประการหนึ่ง ผู้เขียนจำเป็นจะต้องศึกษาหาความรู้ในเนื้อหาเป็นอย่างดี และนำเสนอตามลำดับขั้นตอนให้ต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผลกันไปตั้งแต่ต้นจนจบ กล่าวคือ ใจความของเรียงความนั้น จะต้องเกี่ยวโยงประดุจลูกโซ่

เรียงความแก้กระทู้ธรรมที่ดี นอกจากเนื้อความจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสัมพันธ์กันแล้ว ผู้เขียนต้องเข้าใจจิตวิทยาในการใช้ภาษา กล่าวคือ การสร้างความงามในการใช้ภาษา เช่น ลายมือ ความสะอาด การจัดย่อหน้า การใช้คำ การเรียบเรียงประโยค สำนวนโวหาร และแบบของการเขียน เพื่อให้เกิดความไพเราะน่าอ่าน ทำให้ผู้อื่นผู้ฟังเกิดความพอใจ ประทับใจ



ความสมบูรณ์ของกระทู้พร้อมด้วยอุปมาและสาธก
เรียงความกระทู้ธรรมที่ได้คะแนนน้อยนั้น ส่วนมากจะมีข้อบกพร่องต่างๆ หลายประการ เช่น อธิบายเนื้อความของกระทู้ธรรมผิดจากความมุ่งหมายของกระทู้ธรรมนั้นบ้าง อธิบายความสับสวนวกไปวนมาไม่มีสรุป ความใช้ภาษาไม่ถูกต้องและใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม นอกจากนั้นแล้วยังมีข้อบกพร่องซึ่งประกอบด้วยลักษณะต่างๆ อีก คือ
  • ๑. ไม่อ้างกระทู้ธรรมมาเชื่อมข้อความที่แต่ง หรือไม่มีกระทู้รับ
  • ๒. อธิบายความไม่สมเหตุสมผลกับกระทู้ธรรมที่ตั้งไว้
  • ๓. เขียนข้อความโดยการไม่มีเว้นวรรคตอน หรือเว้นระยะวรรคตอนไม่ถูกต้อง
  • ๔. เขียนข้อความโดยไม่มีย่อหน้าหรือย่อหน้าตามความพอใจ โดยยังไม่ทันสิ้นกระแสความ
  • ๕. นำกระทู้ธรรมมาเชื่อม โดยไม่อ้างถึงข้อความของกระทู้นั้นก่อน
  • ๖. ไม่บอกชื่อคัมภีร์ที่มาของกระทู้ธรรมที่นำมารับ หรือบอกชื่อคัมภีร์ผิดพลาด
  • ๗. เขียนคำบาลีและคำภาษาไทยไม่ถูกต้องหรือขาดตกบกพร่อง
  • ๘. เขียนตัวสะกด การันต์ ผิดพลาด
  • ๙. เขียนหนังสือสกปรก โดยมีการขีดฆ่า ขูดลบ ปรากฏอยู่ทั่วไป
อนึ่ง เรียงความแก้กระทู้ธรรมที่ดี นอกจากไม่มีข้อบกพร่อง ดังกล่าวแล้วนั้น ผู้แต่งควรนำอุปมาและสาธกยกมาประกอบข้อความที่แต่งด้วย

อุปมา คือการใช้ข้อความเปรียบเทียบเพื่อให้ผู้อ่านผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น โดยไม่ขัดกับเรื่องที่แต่งและมีความเหมาะสมกัน อุปมานั้นต้องคู่กับอุปไมยเสมอ เช่น ครูเปรียบเสมือนเรือจ้าง ชาวนาเปรียบเหมือนกระดูกสันหลังของชาติ ใจบุญเหมือนพระเวสสันดร เป็นต้น

สาธก คือ การยกตัวอย่างหรือยกนิทานชาดกมาประกอบข้อความที่แต่งเพื่อให้แจ่มแจ้งเห็นจริง โดยยกมาหมดทั้งเรื่อง ตัดตอนมาเฉพาะบางส่วนซึ่งมีความสัมพันธ์กับกระทู้ธรรมที่แต่งหรือให้เหลือเพียงสั้นๆ เฉพาะตอนที่สำคัญ

 

โครงสร้างการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรมชั้นโท

ลำดับการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรมชั้นโท ๑๓ ข้อ ดังนี้
๑. เขียน สุภาษิตบทตั้ง-พร้อมคำแปล
๒. เขียน คำนำ “บัดนี้ จักได้อธิบาย...สืบต่อไป
๓. เขียน อธิบายสุภาษิตบทตั้ง ๘-๑๕ บรรทัด
๔. เขียน บอกที่มาสุภาษิตเชื่อมสมดังสุภาษิตที่มาใน..........ว่า
๕. เขียน สุภาษิตเชื่อม/พร้อมคำแปล
๖. เขียน อธิบายสุภาษิตเชื่อม๑ ประมาณ ๘-๑๕ บรรทัด
๗. เขียน บอกที่มาสุภาษิตเชื่อม๒ สมดังสุภาษิตที่มาใน..........ว่า
๘. เขียน สุภาษิตเชื่อม/พร้อมคำแปล
๙. เขียน อธิบายสุภาษิตเชื่อม ประมาณ ๘-๑๕ บรรทัด
๑๐. เขียน สรุปความประมาณ ๕-๗ บรรทัด
๑๑. เขียน ปิดท้ายสรุปว่า “สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นว่า
๑๒. เขียน ให้ยกสุภาษิตบทตั้งพร้อมคำแปล มาเขียนปิด
๑๓. เขียน ปิดกระทู้ธรรมด้วย “มีนัยดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้

สำคัญ : ผู้ที่สอบเขียนเรียงความกระทู้ธรรมชั้นโท ให้ถูกต้องตามโครงสร้างกระทู้ธรรม จะต้องเขียนตามลำดับ
การเขียนทั้ง ๑๓ ข้อเบื้องต้นนี้ หากขาดข้อใดหนึ่งนั้นหมายถึงเรียงความแก้กระทู้ธรรมนั้นไม่สมบูรณ์ เป็นเหตุให้
ผู้สอบเสียคะแนนโดยไม่จำเป็น

ตัวอย่างการเขียนกระทู้ธรรมชั้นโท ในใบตอบสนามหลวง




พุทธศาสนสุภาษิต ๒ : ธรรมศึกษาชั้นโท



อัตตวรรค คือ หมวดตน
บท
สุภาษิต
ความหมาย
มาในคัมภีร์
อตฺตทตฺถํ  ปรตฺเถน   พหุนาปิ น หาปเย
อตฺตทตฺถมภิญฺญาย  สทตฺถปสุโต สิยา
บุคคลไม่ควรพล่าประโยชน์ของตน เพราะประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก รู้จักประโยชน์ของตนแล้ว พึงขวนขวายในประโยชน์ของตน
ขุททกนิกาย ธรรมบท
อตฺตานญฺเจ ตถา    กยิรายถญฺญมนุสาสติ
สุทนฺโต วต ทเมถ   อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม.
ถ้าสอนผู้อื่นฉันใด พึงทำตนฉันนั้น ผู้ฝึกตนดีแล้ว ควรฝึกผู้อื่น ได้ยินว่า ตนแลฝึกยาก
ขุททกนิกาย ธรรมบท
อตฺตานเมว ปฐมํ     ปฏิรูเป นิเวสเย
อถญฺญมนุสาเสยฺย  น กิลิสฺเสยฺย ปณฺฑิโต
บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน สอนผู้อื่นภายหลังจึงไม่มัวหมอง
ขุททกนิกาย ธรรมบท


กัมมวรรค คือ หมวดกรรม
บท
สุภาษิต
ความหมาย
มาในคัมภีร์
อติสีตํ อติอุณฺหํ       อติสายมิทํ  อหุ
อิติ วิสฺสฏฺฐกมฺมนฺเต  อตฺถา อจฺเจนฺติ มาณเว
ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยคนผู้ทอดทิ้งการงาน ด้วยอ้างว่าหนาวนัก ร้อนนัก เย็นเสียแล้ว.
ทีฆกนิกาย ปาฏิกวคฺค
อถ ปาปานิ กมฺมานิ    กรํ  พาโล น พุชฌติ
เสหิ กมฺเมหิ ทุมฺเมโธ  อคฺคิทฑฺโฒว ตปฺปติ
เมื่อคนโง่มีปัญญาทราม ทำกรรมชั่วอยู่ก็ไม่รู้สึก เขาเดือดร้อน เพราะกรรมของตน เหมือนถูกไฟไหม้
ขุททกนิกาย ธรรมบท
ยาทิสํ วปเต พีชํ       ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ  ปาปการี จ ปาปกํ
บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว
สงฺยุตฺตนิกาย สคาถวคฺค
โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ  กตตฺโถ นาวพุชฺฌติ
อตฺถา ตสฺส ปลุชฺชนฺติ   เย โหนฺติ อภิปตฺถิตา
ผู้ใด อันผู้อื่นทำความดี ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน แต่ไม่รู้สึก (คุณของเขา) ประโยชน์ที่ผู้นั้นปรารถนาย่อมฉิบหาย
ขุทฺทกนิกาย ชาตก
สตฺตกนิปาต
โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ  กตตฺโถ มนุพุชฺฌติ
อตฺถา ตสฺส ปวฑฺฒนฺติ  เย โหนฺติ อภิปตฺถิตา
ผู้ใด อันผู้อื่นทำความดี ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน ย่อมสำนึก (คุณของเขา) ได้ ประโยชน์ที่ผู้นั้นปรารถนาย่อมเจริญ
ขุทฺทกนิกาย ชาตก
สตฺตกนิปาต
โย ปุพฺเพ กรณียานิ  ปจฺฉา โส กาตุมิจฺฉติ
วรุณกฏฺฐํ ภญฺโชว    ส ปจฺฉา อนุตปฺปติ
ผู้ใด ปรารถนาทำกิจที่ควรทำก่อนในภายหลัง ผู้นั้น ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง ดุจมาณพ (ผู้ประมาทแล้วรีบ) หักไม้กุ่มฉะนั้น
ขุทฺทกนิกาย ชาตก
เอกนิปาต
สเจ ปุพฺเพกตเหตุ   สุขทุกฺขํ นิคจฺฉติ
โปราณกํ กตํ ปาปํ   ตเมโส มุญฺจเต อิณํ
ถ้าประสพสุขทุกข์ เพราะบุญบาปที่ทำไว้ก่อนเป็นเหตุ 
ชื่อว่าเปลื้องบาปเก่าที่ทำไว้ ดุจเปลื้องหนี้ฉะนั้น
ขุทฺทกนิกาย ชาตก
ปญฺญาสนิปาต
สุขกามานิ ภูตานิ     โย ทณฺเฑน วิหึสติ
อตฺตโน สุขเมสาโน  เปจฺจ โส น ลภเต สุขํ
สัตว์ทั้งหลายย่อมต้องการความสุข ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตน 
เบียดเบียนเขาด้วยอาชญา ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมไม่ได้สุข
ขุททกนิกาย ธรรมบท
สุขกามานิ ภูตานิ     โย ทณฺเฑน น หึสติ
อตฺตโน สุขเมสาโน  เปจฺจ โส ลภเต สุขํ
สัตว์ทั้งหลายย่อมต้องการความสุข ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตน 
ไม่เบียดเบียนเขาด้วยอาชญา ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมได้สุข
ขุททกนิกาย ธรรมบท


ขันติวรรค คือ หมวดอดทน
บท
สุภาษิต
ความหมาย
มาในคัมภีร์
อตฺตโนปิ ปเรสญฺจ   อตฺถาวโห ว ขนฺติโก
สคฺคโมกฺขคมํ มคฺคํ  อารุฬฺโห โหติ ขนฺติโก
ผู้มีขันติ ชื่อว่านำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตนทั้งแก่ผู้อื่น 
ผู้ที่มีขันติชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสวรรค์และนิพพาน
สวดมนต์ฉบับหลวง
เกวลานํปิ ปาปานํ   ขนฺติ มูลํ นิกนฺตติ
ครหกลหาทีนํ       มูลํ ขนติ ขนติโก
ขันติ ย่อมตัดรากแห่งบาปทั้งสิ้น ผู้มีขันติชื่อว่าย่อมขุดรากแห่งความติเตียนและการทะเลาะกันเป็นต้นได้
สวดมนต์ฉบับหลวง
ขนฺติโก เมตฺตวา     ลาภี ยสสฺสี สุขสีลวา
ปิโย เทวมนุสฺสานํ  มนาโป โหติ ขนฺติโก
ผู้มีขันตินับว่ามีเมตตา มีลาภ มียศ และมีสุขเสมอ 
ผู้มีขันติเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
สวดมนต์ฉบับหลวง
สตฺถุโน วจโนวาทํ  กโรติเยว ขนฺติโก
ปรมาย จ ปูชาย    ชินํ ปูเชติ ขนฺติโก
ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระศาสดา และผู้มีขันติชื่อว่าบูชาพระชินเจ้าด้วยบูชาอันยิ่ง
สวดมนต์ฉบับหลวง
สีลสมาธิคุณานํ        ขนฺติ ปธานการณํ
สพฺเพปิ กุสลา ธมฺมา  ขนฺตฺยาเยว วฑฺฒนฺติ เต
ขันติเป็นประธาน เป็นเหตุ แห่งคุณคือศีลและสมาธิ กุศลธรรมทั้งปวงย่อมเจริญ เพราะขันติเท่านั้น
สวดมนต์ฉบับหลวง


ปัญญาวรรค คือ หมวดปัญญา
บท
สุภาษิต
ความหมาย
มาในคัมภีร์
อปฺปสฺสุตายํ ปุริโส     พลิวทฺโทว  ชีรติ
มํสานิ ตสฺส วฑฺฒนฺติ  ปญฺญา ตสฺส น วฑฺฒติ
คนผู้สดับน้อยนี้ ย่อมแก่ไป เหมือนวัวแก่ อ้วนแต่เนื้อ แต่ปัญญาไม่เจริญ
ขุททกนิกาย ธรรมบท
ชีวเตวาปิ สปฺปญฺโญ   อปิ วิตฺตปริกฺขยา
ปญฺญาย จ อลาเภน   วิตฺตวาปิ น ชีวติ
ถึงสิ้นทรัพย์ ผู้มีปัญญาก็เป็นอยู่ได้ แต่อับปัญญาแม้มีทรัพย์ก็เป็นอยู่ไม่ได้
ขุทฺทกนิกาย เถรคาถา
ปญฺญวา พุทฺธิสมฺปนฺโน  วิธานวิธิโกวิโท
กาลญฺญู สมยญฺญู จ  ส ราชวสตึ วเส
ผู้มีปัญญา ถึงพร้อมด้วยความรู้ ฉลาดในวิธีจัดการงานรู้กาลและรู้สมัยเขาพึงอยู่ในราชการได้
ขุทฺทกนิกาย ชาตก
มหานิปาต
ปญฺญา หิ เสฏฺฐา กุสลา วทนฺติ
นกฺขตฺตราชาริว  ตารกานํ
สีลํ สิรี จาปิ สตญฺจ ธมฺโม
อนฺวายิกา ปญฺญวโต ภวนฺติ
คนฉลาดกล่าวว่า ปัญญาประเสริฐ เหมือนพระจันทร์ประเสริฐกว่าดาวทั้งหลาย แม้ศีลสิริและธรรมของสัตบุรุษย่อมไปตามผู้มีปัญญา
ขุทฺทกนิกาย ชาตก
จตฺตาฬีสนิปาต
มตฺตาสุขปริจฺจาคา   ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ
จเช มตฺตาสุขํ ธีโร   สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ
ถ้าพึงเห็นสุขอันไพบูลย์ เพราะยอมเสียสละสุขส่วนน้อย ผู้มีปัญญาเล็งเห็นสุขอันไพบูลย์ ก็ควรสละสุขส่วนน้อยเสีย
ขุททกนิกาย ธรรมบท
ยสํ ลทฺธาน ทุมฺเมโธ  อนตฺถํ จรติ อตฺตโน
อตฺตโน จ ปเรสญฺ จ   หึสาย ปฏิปชฺชติ
คนมีปัญญาทราม ได้ยศแล้วย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ย่อมปฏิบัติเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น 
ขุทฺทกนิกาย ชาตก
เอกนิปาต
ยาวเทว อนตฺถาย      ญตฺตํ พาลสฺส ชายติ
หนฺติ พาลสฺส สุกฺกํสํ  มุทฺธํ อสฺส วิปาตยํ
ความรู้เกิดแก่คนพาล ก็เพียงเพื่อความฉิบหาย มันทำสมองของเขาให้เขว ย่อมฆ่าส่วนที่ขาวของคนพาลเสีย
ขุททกนิกาย ธรรมบท
โย จ วสฺสสตํ ชีเว     ทุปฺปญฺโญ อสมาหิโต
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย   ปญฺญวนฺตสฺส ฌายิโน
ผู้ใดมีปัญญาทราม มีใจไม่มั่นคง พึงเป็นอยู่ตั้งร้อยปี ส่วนผู้มีปัญญาเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ดีกว่า
ขุททกนิกาย ธรรมบท


เสวนาวรรค คือ หมวดคบหา
บท
สุภาษิต
ความหมาย
มาในคัมภีร์
อสนฺเต นูปเสเวยฺย   สนฺเต เสเวยฺย ปณฺฑิโต
อสนฺโต นิรยํ เนนฺติ  สนฺโต ปาเปนฺติ สุคตึ
บัณฑิตไม่พึงคบอสัตบุรุษ พึงคบสัตบุรุษ เพราะอสัตบุรุษย่อมนำไปสู่นรก สัตบุรุษย่อมให้ถึงสุคติ
ขุทฺทกนิกาย ชาตก
วีสตินิปาต
ตครํ  ว  ปลาเสน      โย  นโร  อุปนยฺหติ
ปตฺตาปิ สุรภี วายนฺติ  เอวํ  ธีรูปเสวนา
คนห่อกฤษณาด้วยใบไม้ แม้ใบไม้ก็หอมไปด้วยฉันใด การคบกับนักปราชญ์ ก็ฉันนั้น
ขุทฺทกนิกาย ชาตก
วีสตินิปาต
น ปาปชนสํเสวี       อจฺจนฺตสุขเมธติ
โคธากุลํ กกณฺฏาว   กลึ ปาเปติ อตฺตนํ
ผู้คบคนชั่ว  ย่อมถึงความสุขโดยส่วนเดียวไม่ได้  เขาย่อมยังตนให้ประสบโทษ  เหมือนกิ้งก่าเข้าฝูงเหี้ยฉะนั้น
ขุทฺทกนิกาย ชาตก
เอกนิปาต
ปาปมิตฺเต วิวชฺเชตฺวา    ภเชยฺยุตฺตมปุคฺคเล
โอวาเท จสฺส ติฏฺเฐยฺย  ปตฺเถนฺโต อจลํ สุขํ
ผู้ปรารถนาความสุขที่มั่นคง พึงเว้นมิตรชั่วเสีย คบแต่บุคคลสูงสุด และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน
ขุทฺทกนิกาย เถรคาถา
ปูติมจฺฉํ กุสคฺเคน   โย นโร อุปนยฺหติ
กุสาปิ ปูติ วายนฺติ   เอวํ พาลูปเสวนา
คนห่อปลาเน่าด้วยใบหญ้าคา แม้หญ้าคาก็พลอยเหม็นเน่าไปด้วยฉันใด การคบกับคนพาลก็ฉันนั้น
ขุทฺทกนิกาย ชาตก
มหานิปาต
ยาทิสํ กุรุเต มิตฺตํ      ยาทิสญฺจูปเสวติ,
โสปิ ตาทิสโก โหติ   สหวาโส หิ ตาทิโส
คบคนเช่นใดเป็นมิตร และสมคบคนเช่นใด เขาก็เป็นคนเช่นนั้น  เพราะการอยู่ร่วมกันย่อมเป็นเช่นนั้น
ขุทฺทกนิกาย ชาตก
วีสตินิปาต
สทฺเธน    เปสเลน 
ปญฺญวตา  พหุสฺสุเตน 
สขิตํ  หิ  กเรยฺย  ปณฺฑิโต
ภทฺโท  สปฺปุริเสหิ  สงฺคโม
บัณฑิต พึงทำความเป็นเพื่อนกับคนมีศรัทธา มีศีลเป็นที่รัก มีปัญญาและเป็นพหุสูต เพราะการสมาคมกับคนดี เป็นความเจริญ
ขุทฺทกนิกาย เถรคาถา

อักษรย่อบอกที่มาของพุทธศาสนสุภาษิต

การเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรมธรรมศึกษาชั้นตรี ธรรมศึกษาชั้นโท และธรรมศึกษาชั้นเอกนั้น ผู้เรียนผู้สอบจำเป็นอย่างมากที่จะต้องอ้างที่มาของพุทธศาสนสุภาษิต เพื่อให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การเขียนกระทู้และถูกต้องตามหลักปฏิบัติในการสอบสนามหลวง เนื่องจากการอ้างที่มาของสุภาษิตทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและถูกต้องว่าผู้เรียนผู้สอบไม่ได้เขียนกระทู้ขึ้นอย่างมัวๆ และที่สำคัญยังเป็นการให้เครดิตกับสุภาษิตและแหล่งที่มาของสุภาษิตทำให้งานเขียนของเราออกมาอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นครับ




หลักปฏิบัติในการสอบกระทู้ธรรมตรี โท เอก

หลักปฏิบัติในการสอบกระทู้ธรรมสนามหลวง
ผู้จะสอบวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม จำเป็นจะต้องทราบหลักปฏิบัติในการแต่งเรียงความแก้กระทู้ก่อน ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติในการสอบสนามหลวง และท่านผู้สอบจะต้องปฏิบัติตาม ดังนี้

ในชั้นธรรมศึกษาตรี ดังนี้
  • ๑. แต่งตามกระทู้ธรรมสุภาษิตที่กำหนดให้
  • ๒. อธิบายขยายเนื้อความกระทู้ธรรมสุภาษิตนั้นให้สมเหตุสมผล
  • ๓. อ้างสุภาษิตบทอื่นพร้อมทั้งอ้างที่มา มาอธิบายประกอบด้วย ๑ สุภาษิต
  • ๔. เชื่อมความระหว่างสุภาษิตที่นำมาเชื่อมกับสุภาษิตบทตั้งให้สนิทติดต่อสมเรื่องกันด้วยเหตุผล
  • ๕. ให้เขียนลงในกระดาษสอบตั้งแต่ ๒ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป

ในชั้นธรรมศึกษาโท ดังนี้
  • ๑. แต่งตามกระทู้ธรรมสุภาษิตที่กำหนดให้
  • ๒. อธิบายขยายเนื้อความกระทู้ธรรมสุภาษิตนั้นให้สมเหตุสมผล
  • ๓. อ้างสุภาษิตบทอื่นพร้อมทั้งอ้างที่มา มาอธิบายประกอบด้วย ๒ สุภาษิต
  • ๔. เชื่อมความระหว่างสุภาษิตที่นำมาเชื่อมกับสุภาษิตบทตั้งให้สนิทติดต่อสมเรื่องกันด้วยเหตุผล
  • ๕. ให้เขียนลงในกระดาษสอบตั้งแต่ ๓ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป

ในชั้นธรรมศึกษาเอก ดังนี้
  • ๑. แต่งตามกระทู้ธรรมสุภาษิตที่กำหนดให้
  • ๒. อธิบายขยายเนื้อความกระทู้ธรรมสุภาษิตนั้นให้สมเหตุสมผล
  • ๓. อ้างสุภาษิตบทอื่นพร้อมทั้งอ้างที่มา มาอธิบายประกอบด้วย ๓ สุภาษิต
  • ๔. เชื่อมความระหว่างสุภาษิตที่นำมาเชื่อมกับสุภาษิตบทตั้งให้สนิทติดต่อสมเรื่องกันด้วยเหตุผล
  • ๕. ให้เขียนลงในกระดาษสอบตั้งแต่ ๔ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป
เพื่อให้ผู้สอบเกิดความเข้าใจ และมองเห็นภาพมากขึ้น ในหลักปฏิบัติทั้ง ๕ ข้างต้นนั้น จึงอธิบายเพิ่มเติม ดังนี้

. แต่งตามกระทู้ธรรมสุภาษิตที่กำหนดให้
หมายถึงว่าให้ท่านอธิบายสุภาษิตที่สนามหลวงกำหนดเป็นโจทย์มาให้ (ภาษิตบทตั้ง) ..ไม่ใช่ว่าพอเห็นโจทย์สุภาษิตแล้วคิดว่ามันยากเลยตั้งโจทย์สุภาษิตบทตั้งขึ้นมาเองแล้วอธิบายแบบนี้ไม่ได้เด็ดขาด

. อธิบายขยายเนื้อความกระทู้ธรรมสุภาษิตนั้นให้สมเหตุสมผล
หมายถึงว่าการอธิบายเนื้อหาจะต้องมีสระที่สำคัญ มีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป มีตัวอย่างอ้างอิงให้เห็นภาพชัดเจน และให้มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันกับเรื่องที่ตนเองอธิบายอยู่นั้น ให้เกิดความน่าเชื่อถือแก่ผู้อ่านผู้ฟังให้ได้รับคุณค่า ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์นั้นเอง ไม่ใช่สุภาษิตเป็นเรื่องหนึ่ง ก็อธิบายไปอีกเรื่องหนึ่งแบบนี้ไม่ได้

. อ้างสุภาษิตบทอื่นพร้อมทั้งอ้างที่มา มาอธิบายประกอบด้วย
  • ธรรมศึกษาตรี กำหนดให้นำสุภาษิต ๑ ภาษิต พร้อมทั้งอ้างที่มา (มาในคัมภีร์อะไร) ของสุภาษิตนั้นด้วย
  • ธรรมศึกษาโท กำหนดให้นำสุภาษิต ๒ ภาษิต พร้อมทั้งอ้างที่มา (มาในคัมภีร์อะไร) ของสุภาษิตนั้นด้วย
  • ธรรมศึกษาเอก กำหนดให้นำสุภาษิต ๓ ภาษิต พร้อมทั้งอ้างที่มา (มาในคัมภีร์อะไร) ของสุภาษิตนั้นด้วย

. เชื่อมความระหว่างสุภาษิตที่นำมาเชื่อม กับสุภาษิตบทตั้งให้สนิทติดต่อสมเรื่องกันด้วยเหตุผล
หมายถึงว่าให้ท่านอธิบายเชื่อมความระหว่าสุภาษิตบทตั้งที่เป็นโจทย์ของสนามหลวง กับ สุภาษิตเชื่อมที่ท่านเตรียมมา ให้อธิบายเนื้อหาของสุภาษิตนั้นให้สนิทติดต่อกันเป็นเรื่องเป็นราวด้วยเหตุ ด้วยผล ซึ้งทั้งสุภาษิตบทตั้งกับสุภาษิตเชื่อม เนื้อหาควรจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสัมพันธ์กันด้วยดี

หมายเหตุ : กรณีสุภาษิตเชื่อม ซึ่งท่านอาจจะท่องเตรียมไว้กันลืมด้วย (ผู้สอบธรรมศึกษาตรี ท่องไว้อย่างต่ำ ๒ บท ธรรมศึกษาโทท่องไว้ ๒ บท และธรรมศึกษาเอกควรท่องไว้สัก ๔ บท/ภาษิต) ยิ่งจำสุภาษิตได้เยอะ ก็ยิ่งมีตัวเลือกใช้เชื่อมกระทู้ได้ดีกว่า

ที่สำคัญควรเลือกสุภาษิตที่มีความหมายหรือมีเนื้อความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ พูดเรื่องเดียวกกกัน หรือใกล้เคียงมากที่สุด ประโยชน์เพื่อการนำมาเชื่อมความอธิบายจะได้มีความสนิทติดต่อสมเรื่องกันด้วยเหตุด้วยผล

แต่ในกรณีที่สุภาษิตเชื่อมที่ท่องมา บังเอิญไม่มีสักสุภาษิตเลยที่เข้ากันหรือเชื่อมความกับสุภาษิตบทตั้งได้เลย ก็ให้เลือกสักสุภาษิตที่เตรียมไว้นั้นแหล่ะมาเชื่อมแล้วก็อธิบายดีๆ มีเหตุผลดีๆ นำข้อธรรมมากล่าวอ้าง พูดเชื่อมโยง มีเหตุมีผล ก็ถือว่าใช้ได้เช่นกัน

. ให้เขียนลงในกระดาษสอบ ตั้งแต่ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป
  • ผู้สอบธรรมศึกษาชั้นตรี สนามหลวงกำหนดให้เขียนลงใบกระดาษสอบตั้งแต่ ๒ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป
  • ผู้สอบธรรมศึกษาชั้นโท สนามหลวงกำหนดให้เขียนลงใบกระดาษสอบตั้งแต่ ๓ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป และกระทู้ที่จะนำมาเชื่อมนั้น ต้องไม่น้อยกว่า ๒ ข้อ แต่ละข้อต้องไม่น้อยกว่า ๑ คาถา (๑ คาถา มี ๔ บาท) จะนำมาเพียง ๑ บาท ๒ บาทไม่ได้
  • ผู้สอบธรรมศึกษาชั้นเอกให้นำคาถาเชื่อมอธิบาย ต้องไม่น้อยกว่า ๓ ข้อ/สุภาษิต แต่ละข้อให้ครบคาถา (๔ บาท) จะนำมาเพียง ๑ บาท ๒ บาท ไม่ได้ และกำหนดให้เขียนตั้งแต่ ๔ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป

สุดท้าย : ผู้เขียนจะต้องมีความประณีต ละเอียดอ่อน มีสติอยู่ในเสมอ ต้องใช้ความรู้จากวิชาอื่นมาประกอบ ความสามารถและประสบการในเรื่องการใช้ภาษา สำนวน โวหารและรู้จักเลือกคำเหมาะสม มีความลึกซึ้งเด่นชัด เร้าใจผู้อ่าน เขียนศัพท์สมความ เขียนงาม อ่านง่าย

ที่สำคัญท่านผู้อ่านอย่าลืมศึกษาบทความอื่นๆ ประกอบความเข้าใจของท่านด้วย




๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙
เลือกอ่าน ธรรมศึกษาชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก
ตามลิงค์ด้านล่าง
ธรรมศึกษาชั้นตรี
ธรรมศึกษาชั้นโท
ธรรมศึกษาชั้นเอก
๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น