วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560

212 วิชา ธรรมวิภาค ธรรมศึกษาชั้นโท





อธิบาย : กัมมัฏฐานเนื่องด้วยบริกรรม อันเป็นอุบายทำใจให้สงบ ไม่เกี่ยวกับปัญญา จัดเป็นสมถกัมมัฏฐาน. กัมมัฏฐานเนื่องด้วยทัศนะทางใจในคติของธรรมดา ปรารภสภาวธรรมและสามัญญลักษณะ จัดเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ภาวนา ๒ ก็เรียก

๑. สมภกัมมัฏฐาน กรรมฐานเนื่องด้วยบริกรรม ไม่เน้นหนักในด้านการใช้ปัญญา เป็นกรรมฐานเครื่องยังใจให้สงบจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ สิ่งเหล่านี้เรียกว่าสนิมใจ กั้นจิตบุคคลไว้ไม่ให้บรรลุความดี กรรมฐานที่เป็นอุบายวิธีกระทำใจของบุคคลให้สงบ เช่น ตั้วสติ ระลึกดูที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรืออาจจะภาวนาบทว่า พุทโธ โดยหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ ถ้าจิตของบุคคลนั้นสามารถสงบอยู่กับอารมณ์ที่ตนระลึกได้ ในยามนั้นนิวณ์ธรรม ๕ ประการ ข้อใดข้อหนึ่งได้สงบไปจากจิต การปฏิบัติโดยวิธีนี้จึงชื่อว่า เป็น สมถกัมมัฏฐาน

๒. วิปัสสนากัมมัฏฐาน กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา เป็นการสอนให้บุคคลใช้ปัญญาเพ่งดูสิ่งที่เราเรียกว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพื่อให้เกิดปัญญาชั้นสูง เห็นจริงตามสภาพความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ เช่น พิจารณาพระไตรลักษณ์เป็นต้น กรรมฐานทั้ง ๒ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า แม้บุคคลกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อความรู้ดี เป็นไปเพื่อความดับ กรรมฐานทั้ง ๒ ประการก็คือหลักของจิตตสิกขา และปัญญาสิกขา ในทางพระพุทธศาสนา นั่นเอง

กาม ๒ อย่าง

อธิบาย: กิเลสกาม ได้แก่กิเลสให้ใคร่ คือ ราคะ โลภะ คือความอยากได้ อิสสา คือความริษยาหรือความหึง อรติ ความไม่ยินดีด้วย อสันตุฏฐิ ความไม่สันโดษ เป็นต้น วัตถุกาม ได้แก่กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ

๑. กิเลสกาม หมายถึงกิเลสที่มีอยู่ภายในจิจใจของบุคคล เช่น รติ ความยินดี โลภะ ความโลภ อิสสา ความริษยา อสันตุฏฐิ ความไม่สันโดษคือความไม่ยินดีตามมีตามได้ของตน เรียกว่าปริยุฏฐานกิเลสบ้าง อนุสัยกิบ้าง เปรียบดังพืชอันมียางเป็นเหตุให้เกิดราก ลำต้น กิ่งก้าน ต่อไป กิเลสเหล่านี้เมื่อมีในสันดานของบุคคลใด ย่อมเป็นเหตุยังจิตของบุคคลนั้น ให้มีความยินดี รักใคร่ ปราถนา ไข่วคว้า เพื่อให้ได้ซึ่งสิ่งต่างๆ และเศร้าหมองเป้นไปตามอำนาจของกิเลสนั้นๆ ถ้าหากจิตของบุคคลไม่มีสิ่งเหล่านี้ ความยินดี ความต้องการในอารมณ์ทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า กิเลสเป็นเหตุใคร่

๒. วัตถุกาม หมายถึงวัตถุหรือพัสดุสิ่งของอันน่ารักใคร ได้แก่กามคุณ ๕ คือรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ เนื่องจากโลกของเราเป็นโลกแห่งระบบสัมผัส เช่นบุคคลไปกำหนดว่า รูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่นหอม สิ่งนั้นน่าจับ น่าสัมผัส ความต้องการความกำหนัดในสิ่งนั้นก็จะบังเกิดขึ้น กิเลส วัตถุกาม จึงมีความเกี่ยวข้องกัน ถ้ามีเพียงอย่างหนึ่งอีกอย่างหนึ่งไม่มี ความเปลี่ยนแปลงภายในจิตของบุคคลก็เกิดขึ้นไม่ได้ เช่นมีวัตถุสิ่งของอยู่ บุคคลไปกำหนดว่าสิ่งนั้นเป็นของมีค่า ก็จะเกิดความอยากได้ในสิ่งนั้น วัตถุกามคือกามคุณ ๕ เป็นของมีอยู่ เป็นอยู่โดยธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้จะทความเปลี่ยนให้เกิดแก่จิตของบุคคลได้หรือไม่ ก็อยู่ที่บุคคลมีกิเลสอยู่ภายในจิตหรือไม่ ถ้ามีกิเลสก็ความเปลี่ยนแปลงให้เป็นความรักความชังขึ้นมาได้ ถ้าไมมีกิเลสรูปก้เป็นเพียงสักว่ารูปเป็นต้น พระพุทธเจ้าทรงมุ่งไปที่การบรรเทากิเลสคือพวกกิเลสกาม ไม่ได้มุ่งไปแก้ที่วัตถุกาม เพราะวัตถุกามเป็นผลิตผลของธรรมชาติ เป็นการกำหนดให้รู้ไว้เท่านั้นว่า อะไรเป็นอะไร แต่กิเลสเป็นส่วนที่ต้องพิจารณาให้เห็นโทษแล้วพยายามละไปโดยลำดับ

บูชา ๒ อย่าง

บูชา หมายถึงการแสดงความยอมรับนับถือ เชื่อฟังและพร้อมที่จะปฏิบัติตาม ในทางพระพุทธศาสนา จำแนกไว้โดยสรุป ๒ ประการคือ

๑. อามิสบูชา บูชาด้วยอามิส คือวัตถุสิ่งของต่างๆ เช่น การให้เสื้อผ้าอาหาร ที่อยู่ โดยการสำนึกเห้นคุณธรรมความดีของผู้ที่ตนบูชา เช่นชาวพุทธทำบุญตักบาตรไหว้พระสวดมนต์ บูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ ธูปเทียนและของหอมต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป้นวัตถุ การบูชาที่ใช้วัตถุทั้งหมดเป้นอามิสบูชา บูชาด้วยวัตถุสิ่งของ

๒. ปฏิบัติบูชา บูชาด้วยการปฏิบัติตาม เช่นพุทธศาสนิชนยอมรับนับถือพร้อมที่จะเชื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าน้อมตนเข้าหาธรรมะด้วยการประพฤติปฏิบัติดี ตามสมควรแก่ฐานะที่ตนเป้นพ่อ เป็นแม่ เป็นอุบาสกเป็นอุบาสิกา เป็นภิกษุสามเณร สรุปความว่าเป็นพุทธบริษัทที่ดีด้วยการปฏิบัติชอบตามธรรม ผลที่เกิดจากการปฏิบัตินั้น ทำให้มีปัญญาสูงขึ้น จิตสะอาดเพิ่มขึ้น จนตนเองอยู่เหนืออำนาจของกิเลส แม้จะละกิเลสไม่ได้หมด แต่ก็ยังควบคุมโลภโกรธ หลงไว้ได้ เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม การช่วยหลือบุคคลอื่น ในกิจการงานที่ชอบ การให้ส่วนบุญแก่บุคคลอื่น การชื่นชมในการทำความดีของบุคคลอื่น การฟังธรรม การแสดงธรรมเป็นต้น ล้วนชื่อว่าเป็นปฏิบัติบูชาทั้งนั้น

บูชาทั้ง ๒ ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องปฏิบัติบูชา ว่าเป็นการบูชาอย่างยิ่งแต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทรงปฏิเสธอามิสบูชาการบูชาด้วยวัตถุสิ่งของต่างๆ

ปฏิสันถาร ๒ อย่าง

ปฏิสันถาร ได้แก่ การต้อนรับแขกผู้มาถึงถิ่น อามิสปฏิสันถารได้แก่ต้อนรับด้วยให้สิ่งของ เช่น ให้น้ำร้อนหมากพลู อาหารเป็นต้น ธัมมปฏิสันถาร แก้กันมาว่า กล่าวธรรมให้ฟังหรือแนะนำกันในทางธรรม ข้าพเจ้าเห็นไม่ใช่อาการรับแขก มติของข้าพเจ้า ได้แก่ต้อนรับโดยควรแก่ฐานะของแขกผู้มา ควรลุกรับกราบไหว้ก็ทำ ไม่ควรทำอย่างนั้น ก็ทำความเอื้อเฟื้อด้วยประการอื่น แม้เจ้าถิ่นมีปรารถนาดี แต่ทำไม่ควรแก่ฐานะของแขก การปฏิสันถารนั้นอาจเสีย เช่นแขกเป็นคนชั้นสูง เจ้าถิ่นทำการต้อนรับอย่างคนสามัญ ดูเป็นไม่สำคัญในแขกผู้นั้นเลย อีกผ่ายหนึ่ง แขกเป็นคนสามัญ เจ้าถิ่นต้อนรับแข็งแรง อย่างทำแก่แขกชั้นสูง ดูเป็นตื่นหรือเซอะไป ธัมมปฏิสันถาร หมายเอาการต้อนรับที่ทำพอดีสมแก่ฐานะของแขก

๑. อามิสปฏิสันถาร ได้แก่การต้อนรับด้วยสิ่งของ เช่นให้ข้าวปลาอาหารน้ำดื่มหรือแม้แต่การให้พักอาศัย ให้ที่อยู่อาศัยโดยสมควรแก่แขกผู้มาเยือนถึงถิ่นอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า “เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ

๒. ธัมมปฏิสันถาร เป็นการปฏิสันถารโดยธรรม ได้แก่การกล่าวธรรมะให้ฟังหรือแนะนำในทางธรรม สดเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงแสดงพระมติเอาไว้ว่าได้แก่การต้อนรับโดยสมควรแก่บานะของแขกผู้มา ว่าใครควรจะลุกขึ้นยืนรับ ใครควรจะไหว้ หรือใครควรจะออกไปต้อนรับถึงที่ไกล แขกเป้นคนชั้นสูงหรือเป็นคนสามัยก็พึงต้อนรับให้สมควรแก่ฐานะ การปฏิสันถารจึงจะไม่เสีย

ปฏิสันถาร เป็นที่นิยมของชนทุกชน แม้โบรณาบัณฑิตก็นิยมนับถือว่าเป็นความดี พึงเห็นพระเวสสันดร ต้อนรับแก่พราหมณ์ชูชกเป้นตัวอย่าง เป็นเครื่องสมานสามัคคีในระหว่ากันและกันให้มั่นคง แม้สมัยปัจจุบันนี้การปฏิสันถารยังนิยมนับถือว่า เป็นความดี ไม่เสื่อมถอย ฉะนี้แล

สุข ๒ อย่าง

๑. กายิกสุข   สุขทางกาย
๒. เจตสิกสุข สุขทางใจ
๑. กายิกสุข สุขทางกายนั้น ได้แก่การที่ร่างกายของคนเราไม่มีความทุกข์ ไม่มีโรค ไม่มีภัยเบียดเบียน อวัยวะน้อยใหญ่มีความสมบูรณ์ มีสุขภาพอนามัยดี จะทำอะไรก็มีความคล่องแคล่ว ชำนาญ เช่นนี้เรียกว่า กายิกสุข

๒. เจตสิกสุข สุขทางใจ ได้แก่ลักษณะทางอารมณ์ของบุคคลที่จิตใจประกอบด้วยความคลายกำหนัด ไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ทั้งหลาย อยู่ด้วยความเมตตา กรุณา อันมีลักษณะสงบจิต มีความกระตือรือร้น มีความเพียรพยายามมั่นคงสามารถสงบอยู่ได้ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มีความมั่นใจในธรรมะ ในตัวเอง ในบุคคล ในการงานเป็นต้น เรียกว่าเป็นคนมีสุขภาพจิตดี ชีวิตของคนเรานั้นประกอบด้วยกายกับจิต เมื่อสุขภาพกายดี สุขจิตดี ชีวิตของบุคคลนั้นก็เป็นชีวิตที่มีคุณค่า พร้อมที่จะเสริมสร้างความดีที่ยังไม่มีให้มีขึ้น ที่มีอยู่แล้วก็ได้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น

อกุศลวิตก ๓ อย่าง

๑. กามวิตก   ความตรึกในทางกาม
๒. พยาบาทวิตก  ความตรึกในทางพยาบาท
๓. วิหิงสาวิตก  ความตรึกในทางเบียดเบียน

อกุศลวิตก คือความตรึก นึกคิด ด้วยความไม่ฉลาด เป็นการนึกคิดในเรื่องที่ไม่ดีของบุคคลผู้มีกิเลส ที่เก็บสะสมไว้ภายในจิตมากๆ ซึ่งท่านแบ่งอกุศลวิตกออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ คือ
๑. กามวิตก ความตรึกในทางกาม หมายถึงการนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ด้วยการแสดงออกมาในทางที่ไม่ถูกต้องทางศีลธรรม หรือแม้แต่วัตถุกามที่ประณีตอย่างไรก็ตาม หากยังมีอาการของตัณหาที่ก่อให้เกิดทุกข์อยู่ ก็ยังถือว่าอยู่ในข่ายของวิตกทั้งนั้น

๒. พยาบาทวิตก ความตรึกในทางพยาบาท หมายถึงความตรึกนึกด้วยความพยาบาท ซึ่งอาจจะเกิดมาจากความไม่พอใจ การกระทบกระทั่งกัน โกรธเคืองกัน หรือลงมือทำร้ายกัน แต่ใจยังเก็บเรื่องนั้นไว้และยังตรึกนึกด้วยอำนาจการจองเวร ทำความอาฆาตมาดร้าย มุ่งทำร้าย ล้างผลาญสิ่งของหรือบุคคลที่ทำให้ตนโกรธไม่พอใจ เป็นต้น

๓. วิหิงสาวิตก ความตรึกในทางเบียดเบียน หมายถึงความตรึกนึกด้วยอำนาจของโทสะ ต้องการจะเห็นความวิบัติความเดือดร้อนของคนอื่น สัตว์อื่น ต้องการที่จะเห็นการต่อสู้หรือความพินาศของคนอื่น ทั้งที่เป็นสิ่งของและสถานที่เป็นต้น

อกุศลทั้ง 3 นี้เป็นส่วนควรละ คือบุคคลต้องพิจารณาให้เห็นโทษแล้วบรรเทา ละความตรึก ในลักษณะแผดเผาทำลายจิตของตนเอง ฉะนั้น

อนึ่ง ความตริประกอบด้วยกามราคะ เช่นคิดแส่ไปในการทำกาเมสุมิจฉาจาร และทำทุราจารผิดประเพณี และประกอบด้วยอภิชฌา เช่นคิดแส่ไปในทางหาลาภอันไม่ชอบธรรม จัดเป็นกามวิตก ความตริประกอบด้วยพยาบาท มีโทสะเป็นมูล คือคิดทำลายหรือตัดรอนผู้อื่น จัดเป็นพยาบาทวิตก ความตริประกอบด้วยเจตนาเป็นเหตุทำความลำบากให้แก่ผู้อื่น มีโมหะเป็นมูล เช่นใช้คนหรือสัตว์พาหนะเกินพอดี ไม่ปรานีไม่คิดถึงความลำบากของเขา ของมัน หรือแสวงหาความสนุกเพื่อตนเองในทางลำบากของผู้อื่น จัดเป็นวิหิงสาวิตก

กุศลวิตก ๓ อย่าง

๑. เนกขัมมวิตก  ความตริในทางพรากจากกาม
๒. อพยาบาทวิตก  ความตริในทางไม่พยาบาท
๓. อวิหิงสาวิตก  ความตริในทางไม่เบียดเบียน

กุศลวิตก คือ ความตรึกนึกด้วยความฉลาด หรือความนึกคิดที่ดีงามที่อาศัยปัญญาเป้นเครื่องควบคุมความคิด ท่านจำแนกไว้เป็น ๓ ประเภท คือ
๑. เนกขัมมาวิตก ความตรึกปลดออกจากกาม เป็นความตรึกของคนที่มีปัญญาทำความรู้จักกับรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้นอันเป็น วัตถุกาม และมองเห็นโทษของกิเลสกาม มีความยินดี ความโลภ ความรัก ความอิจฉา ในวัตถุกามเป็นต้น ด้วยการตรึกนึกที่จพทำลายจิตของตน ออกจากอำนาจของวัตถุกามและกิเลสกาม จนถึงกับคิดจะออกบวชในศาสนา เป็นต้น

๒. อพยาบาทวิตก ความตรึกปลดออกจากการอาฆาตพยาบาท เป็นความตรึกที่เกิดจากการเห็นโทษของความโกรธ ความอาฆาตพยาบาทแล้วปลูกฝัง ความรัก ความเมตตา ความอดทน ให้อภัยต่อกัน มองเห็นคน สัตว์ เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน แม้จะเกิดความโกรธขึ้นบ้างก็ไม่เก็บมาเป็นพยาบาท แต่คิดในทางที่จะขจัดความพยาบาทอาฆาตให้หมดสิ้นไป

๓. อวิหิงสาวิตก ความตรึกปลดออกจากการไม่ประทุษร้ายเบียดเบียนกันเป็นความตรึกนึกที่เกิดจากความกรุณาสงสาร หวั่นใจ เห็นใจ ในความทุกข์ยาก ของคนและสัตว์ คิดปรารถนาที่จะช่วยคนและสัตว์เหล่านั้น ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ที่เขากำลังประสบอยู๋

กุศลวิตก เป็นส่วนที่ควรกระทำ บุคคลควรพิจารณาให้เห็นผลดีของความตรึกในทำนองนั้น อันเป็นทางนำมาซึ่งความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และแสดงความดีที่มีอยู่ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น

อนึ่ง ความตริเป็นไปเพื่อทำใจไม่ให้ลุอำนาจแก่กิเลสกามและไม่ติดอยู่ในวัตถุกาม จัดเป็นเนกขัมมวิตก แต่เนกขัมมศัพท์นี้ท่านหมายเอาออกบวช เพราะความมุ่งหมายของผู้บวช ย่อมเป็นไปในทางนั้น ความตริเป็นไปด้วยอำนาจเมตตาในผู้อื่น ปรารถนาความดีความงามเพื่อเขา จัดเป็น อพยาบาทวิตก ความตริเป็นไปด้วยอำนาจกรุณาในผู้อื่น จะทำอะไรๆ เนื่องด้วยผู้อื่น เป็นต้นว่าจะใช้คนหรือสัตว์ มีปรานีคิดถึงความลำบากของเขาของมัน ไม่ใช้ตรากตรำ ไม่ทำความลำบากให้แก่เขาแก่มันโดยไม่จำเป็น จัดเป็นอวิหิงสาวิตก

อัคคิ ๓ อย่าง

อัคคิ ได้แก่ ไฟ  ในที่นี้หมายถึงไฟกิเลส กิเลสดุจไฟเผาลนจิตใจให้เร้าร้อน พระพุทธองค์ทรงอุปมาเหมือนไฟ 3 กองคือ
๑. ราคัคคิ ไฟคือราคะ ได้แก่ความรู้สึกนึกกำหนัด รักใคร่ ยินดีในกามคุณมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะได้สิ่งเหล่านี้มาไว้ในครอบครอง เมื่อไม่ได้ก็ทุรนทุรายกระเสือกกระสนแสวงหา เมื่อได้มาแล้วก็กลัวพลัดพลากจากสิ่งเหล่านั้น

๒. โทสัคคิ ไฟคือโทสะ ได้แก่ความเอดพล่านของอารมณ์ซึ่งเกิดขึ้น ขณะประสบอามรณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ เกิดความเกิด อาฆาต พยาบาทเป็นต้น เมื่อไฟกองนี้เกิดขึ้นในสันดานแล้ว ทำให้เกิดการวิวาทประทุษร้ายกันและกันจนถึงกับบาดเจ็บหรือล้มตายได้

๓. โมหัคคิ ไฟคือโมหะ ได้แก่ ความหลงมัวเมา ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ หรือเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องต่างๆ จนถึงกับไม่รู้ว่า อะไรเป็นบาป อะไรเป็นบุญ เป็นคุณเป็นโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น ไฟกองนี้เผาลนสันดานสัตว์ให้เร้าร้อน เปรียบเสมือนไฟสุมแกลบ ฉะนั้น

อธิปไตย ๓ อย่าง

๑. อัตตาธิปเตยยะ   ความมีตนเป็นใหญ่
๒. โลกาธิปเตยยะ    ความมีโลกเป็นใหญ่
๓. ธัมมาธิปเตยยะ   ความมีธรรมเป็นใหญ่

อธิปเตยยะ หมายถึง ความเป็นใหญ่ ความต้องการความยิ่งใหญ่
๑. อัตตาธิปเตยยะ ความมีตนเป็นใหญ่ จะทำอะไรๆ ก็ปรารถนาตนเองเป็นใหญ่ มุ่งให้เหมาะสมกับฐานะของตน ปรารภตนเป็นที่ตั้ง เช่นถ้าตนเป็นใหฐ่ก็ทำด้วยมุ่งให้สมกับภาวะของตน ทำด้วยมุ่งผลอันจะได้แก่ตน ทำด้วยความสะดวกแห่งตน

๒. โลกาธิปเตยยะ ความมีโลกเป็นใหญ่ ได้แก่การจะทำอะไรทุกอย่างต้องปรารภโลกเป็นที่ตั้ง เช่นคนละเว้นความชั่ว เพราะกลัวคนอื่นเขานินทาตำหนิ ทำความดีเพราะต้องการให้เขายกย่องสรรเสริญ ทำตามความนิยมของชาวโลก บางทีเรียกว่า ประชาธิปไตยคือการถือเอาความคิดเห็นของคนส่วนมากเป็นประมาณ

๓. ธัมมาธิปเตยยะ ความมีธรรมเป็นใหญ่ ได้แก่การจะทำอะไรทุกอย่างต้องปรารถธรรมเป็นที่ตั้ง ด้วยการพิจารณาเห็นความถูกต้อง ทำด้วยความเมตตากรุณา เสียสละ มุ่งให้เกิดประโยชน์แก่คนอื่น แม้ใครจะไม่ยกย่องสรรเสริญก็พร้อมที่จะทำ เรียกว่าทำดีเพราะเห็นว่าดี ละชั่วเพราะเห็นว่าชั่ว เป็นต้น

ญาณ ๓ อย่าง

ญาณ ในที่นี้หมายถึง จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ซึ่งเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคล ด้วยผลของการปฏิบัติให้สมบูรณ์ในศีล สมาธิ ปัญญา จนสภาพจิตใจของบุคคลนั้น ไม่หวั่นไหว เป็นสมาธิ สงบ ปราศจากกิเลส ท่านจำแนกไว้ ๓ ประเภท คือ

๑. สัจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้อริยสัจ ได้แก่หยั่งรู้ว่านี้เป็นทุกข์ นี้เป็นสมุทัย นี้เป็นนิโรธ นี้เป็นนิโธคามินีปฏิปทา

๒. กิจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันควรทำ ได้แก่หยั่งรู้ว่าทุกข์เป็นธรรมที่ควรหยั่งรู้ สมุทัยเป็นสภาพที่ควรละ นิโรธเป็นสภาพที่ควรทำให้แจ้ง นิโรธคามินีปฏิปทาเป็นสภาพที่ควรทำให้เกิด

๑. กตญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันทำแล้ว ไดแก่หยั่งรู้กิจ ๔ อย่างนั้นว่าทุกข์เป็นธรรมชาติที่ควรกำหนดรู้ก็ได้รู้แล้ว ทุกข์สมุทัยเป้นสภาพที่ควรละก็ละได้แล้ว ทุกขนิโรธเป็นสภาพที่ควรทำให้แจ้งก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาเป็นธรรมที่ควรทำให้เกิดก็ได้เกิดแล้ว

ญาณทั้ง ๓ ประการนี้ ได้เกิดขึ้นในอริสัจทั้ง ๔ ข้อๆ ละ ๓ ครั้ง รวมเป็น ๑๒ ที่เรียกว่ามีวน ๓ มีอาการ ๑๒ ซึ่งเป็นญาณคือความรู้ที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า

ตัณหา ๓ อย่าง

ตัณหา ๓
ตัณหา หมายถึง ความทะยานอยาก ความติดใจ หรือความยึดติด มีอยู่ ๓ ประการ คือ
๑. กามตัณหา ตัณหาในกาม หมายถึง ความอยากในกาม โดยทั่วไปได้แก่ความอยากในกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) ที่ชวนให่รักชักให่ใคร่ พาใจให้กำหนัดยินดี โดยสูงสุดได้แก่ความยินดี ความพอใจ ความติดใจในกามภพอันเป็นภูมิที่เกิดของผู้ยังต้องเสพกามและสมบูรณ์ไปด้วยกาม เช่น โลกมนุษย์หรือเทวโลก เป็นต้น

๒. ภวตัณหา ตัณหาในภพ หมายถึง ความอยากในภพ โดยทั่วไปได้แก่ ความอยากมี อยากเป็นต่างๆ ตามที่ต้องการ โดยสูงสุดได้แก่ ความกำหนัดยินดีในรูปภพและอรูปภพคือติดอยู่ในฌานสมาบัติที่ทำให้ไปเกิดในรูปภพและอรูปภพนั้นอันเป็นความยินดีที่ประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิ ทำให้อยากเกิดอยากเป็นเช่นที่เป็นอยู่ตลอดไป

๓. วิภวตัณหา ตัณหาในปราศจากภพ หมายถึง ความอยากพ้นไปจากภพ โดยทั่วไปได้แก่ ความอยากไม่มีไม่เป็น อยากพ้นจากสภาพที่ไม่ต้องการ โดยสูงสุด ได้แก่ความกำหนัดยินดีประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ เป็นความพอใจอยู่กับการกระทำอะไรตามใจตนเอง ไม่คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีผล เพราะมีความเชื่อว่าคนตายแล้วขาดสูญ

ปาฏหาริยะ ๓ อย่าง

ปาฏหาริยะ หมายถึง ความอัศจารรย์,สิ่งที่น่าอัศจารรย์,สิ่งที่น่าเหลือเชื่อ เป็นสิ่งที่มีความสามารถพิเศษกว่าสิ่งอื่น และเป็นอัศจารรย์ที่คนทำให้เกิด มีอยู่ ๓ อย่างคือ

๑. อิทธิปาฏิหาริยะ มีฤทธิ์เป็นอัศจารรย์ หมายถึงการแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจารรย์ สิ่งเป็นสิ่งที่เป็นผลมาจากการฝึกจิตจนได้ฌานสมาบัติ เป็นอำนาจจิตนอกเหนือกฎธรรมธรรมชาติ ถึงขั้นมีพลังอำนาจแสดงอานภาพที่คนทั่วไปทำไม่ได้ เช่น แปลงตัวได้ตามที่ใจคิด ล่องหนผ่านเครื่องกีดขวางหรือผูกมัดได้ เดินบนน้ำได้ เป็นต้น

๒. อาเทสนาปาฏิหาริยะ ดักใจได้เป็นอัศจารรย์ หมายถึงการทายใจคนได้เป็นอัศจรรย์ เป็นการกำหนดใจผู้อื่นได้ ทำให้สามารถอ่านความคิด ทราบถึงจริต อุปนิสัย และบารมี (บุญ) ของคนนั้นๆ ได้

๓. อนุสาสนีปาฏิหาริยะ คำสอนเป็นอัศจรรย์ หมายถึงเป็นคำสอนที่มีความอัศจรรย์ในตัว สามารถจูงใจให้คนน้อมนำไปปฏิบัติ ด้วยวิธีการสอน คือ สอนด้วยความรู้จริง (รู้จริงทำได้จริงจึงสอนเขาได้) สอนอย่างมีเหตุผล (ให้เขาพิจารณาเข้าใจได้ด้วยปัญญาของเขาเอง) สอนให้ได้ผลจริง (สำเร็จตามประสงค์ตามเรื่องที่สอน) เป็นเหตุให้ผู้ฟังเห็นแจ้งเข้าใจชัด หากปฏิบัติตามย่อมได้รับผลตามสมควรแก่การปฏิบัติ

ปิฏก ๓ อย่าง

ปิฏก ๓ แปลว่า ตระกร้าหรือคัมภีร์ ในที่นี้หมายถึง ตำราที่เป็นคัมภีร์รวบรวมพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า แบ่งเป็น ๓ คัมภีร์ใหญ่ๆ คือ

๑. พระวินัยปิฏก หมวดพระวินัย หมายถึง คัมภีร์ที่รวบรวมพระวินัย พูดให้เข้าใจง่ายคือ กฎระเบียบหรือกฎหมายของพระที่จะต้องปฏิบัติตามนั้น หากฝ่าฝืนก็มีโทษหนักบ้าง เบาบ้างตามความผิดที่ทำคือ หนักสุดรับโทษประหาร (ขาดจากความเป็นพระทันทีที่ทำ) หย่อนลงหน่อยถูกจองจำ (อยู่กรรม) สถานเบาถูกประจาน (แสดงอาบัติ) ท่านจัดไว้ ๕ คัมภีร์ (จัดตามพระไตรปิฏกของไทยอยู่ในเล่ม ๑-๘) การบัญญัติพระวินัย เป็นเหตุให้ภิกษุศีลาจารวัตรงดงามน่าเลื่อมใส่ อันเป็นเหตุสำคัญของการสืบต่ออายุพระศาสนา

๒. พระสุตตันตปิฏก หมวดพระสูตร หมายถึงคัมภีร์ที่รวบรวมพระสูตร เป็นหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ไว้ในที่ต่างๆ แนวบุคคลาธิฏฐาน มีบุคคล เรื่องราว สถาน เป็นสื่อประกอบการสอนทำให้เข้าใจได้ง่าย สามารถนำไปปฏิบัติตามได้ และเป็นคำสอนที่แสดงคล้อยตามอุปนิสัยหรือบารมีธรรมของผู้ฟังเป็นหลัก ท่านจัดไว้ ๕ คัมภีร์หรือนิกาย (พระไตรปิฏกของไทยอยู่ในเล่ม ๙-๓๓)

๓. พระอภิธรรมปิฏก หมวดพระอภิธรรม หมายถึง คัมภีร์ที่รวบรวมพระอภิธรรม คือคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในแนวธัมมาธิฏฐาน มีคำอธิบายเป็นหลักวิชาการทางธรรมล้วนๆ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งเป็นปรมัตถเทสนา ที่มุ่งถึงเรื่องจิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นคัมภีร์ที่อธิบายเน้นถึงลักษณะเหตุเกิดหรือสภาวะของธรรมแต่ละอย่างไว้อย่างพิสดาร มีการรวบรวมไว้เป็น ๗ คัมภีร์ (พระไตรปิฏกของไทยอยู่ในเล่ม ๓๔-๔๕)

พุทธจริยา ๓ อย่าง

พุทธจริยา หมายถึง พระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าที่ทรงประพฤติหรือบำเพ็ญประโยชน์ต่อเวไนยสัตว์ทุกทั่วหน้า โดยตรงก็คือ การบำเพ็ญพุทธกิจนั้นเอง มี ๓ พระจริยาวัตร คือ

๑. โลกัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก หมายถึงพระจริยาวัตรที่เป็นประโยชน์ต่อชาวโลกทั่วไป พระพุทธเจ้า มิได้ยกพระองค์อยู่เหนือมนุษย์ แต่ทรงบำเพ็ญประโยชน์สงเคราะห์ชาวโลกในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ด้วยการเสด็จไปประกาศในพระศาสนาในที่ต่างๆ เรียกว่า ทรงชี้ทางบรรเทาทุกข์ ชี้สุขเกษมศานติ์ ชี้ทางพระนฤพานให้พ้นโศกวิโยคภัยให้แก่ชาวโลกทั้งมวล

๒. ญาตัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่พระญาติ หมายถึงพระจริยาวัตรที่เป็นประโยชน์ต่อพระญาติทั้งสองฝ่าย ด้วยการเสด็จกลับไปโปรดหลังจากตรัสรู้แล้ว แนะนำให้ถ่ายถอนจากทิฏฐิมานะความถือตัวจัด ให้ได้พบหนทางสว่าง ได้ออกบวชและบรรลุธรรมตามบุญตามบารมี เช่น ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบิดา พุทธมารดา เป็นต้น สมฐานะเป็นอภิชาตบุตร

๓. พุทธัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์โดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้า หมายถึง พระจริยาวัตรที่เป็นประโยชน์ตามหน้าที่เป็นพระพุทธเจ้า เช่น ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕ คือ ยามเช้าออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ ยามเย็นทรงแสดงธรรมเทศนา พบค่ำประทานโอวาทแก่หมู่ภิกษุ ยามดึกตอบปัญหาที่เทวดาทูลถาม เช้ามืดตรวจดูสัตว์โลกที่จะเสด็จโปรด เป็นต้น และทรงแสดงธรรมสั่งสอนพุทธบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ได้รู้ทั่วถึงธรรม อันเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงต่อการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา

วัฏฏะ ๓ อย่าง

วัฏฏะ หายถึง วน คือการหมุนเวียนอยู่ในสังสารวัฏเวียนวายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ ของสัตว์โลก ตราบเท่าที่ยังตัดวัฏฏะ ๓ อย่างนี้ไม่ได้ คือ

๑. กิเลสวัฏฏะ วนคือกิเลส หมายถึง การวนเวียนเปลี่ยนไปตามอำนาจสิ่งยั่วยวนและฉุดดึง คือ กิเลส (สิ่งที่ทำใจเศร้าหมองขุ่นมัว) มี ๓ จำพวกคือ 
๑. จำพวกที่ทำให้จิตหิวกระหาย อยากกอบโกยทุกอย่างเป็นของตัว เรียกว่า โลภะ 
๒. จำพวกที่ทำให้จิตร้อนรุ่มเหมือนถูกไฟสุมอยู้ตลอดเวลาทำให้คิดอยากล้างผลาญ เรียกว่า โทสะ 
๓. จำพวกที่ทำให้จิตงวบงงหลงให้มัวเมา ไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะทั้งปวง เรียกว่า โมหะ

๒. กัมมวัฏฏะ วนคือกรรม หมายถึง การวนอยู่ในการทำกรรม คือเมื่อมีกิเลสเกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งกระตุ้นให้มีการกระทำกรรมจะมากหรือน้อยก็อยู่ที่กิเลสอันเกิดขึ้นในใจอยู่ขณะนั้น

๓. วิปากวัฏฏะ วนคือวิบาก หมายถึง การวนเวียนรับผลของกรรมที่ตนทำแล้วนั้น คือ เมื่อมีการทำกรรม ย่อมได้รับผลของกรรมที่ทำนั้นตามสมควรแก่กรรมไม่สามารถลบล้างได้

วงจรของวัฏจักรนี้ พระอริยบุคคลผู้บรรลุอรหันตมรรคเท่านั้น ถึงจะหลุดพ้นและตัดให้ขาดได้

สิกขา ๓ อย่าง

สิกขา หมายถึง ข้อสำหรับศึกษา การฝึกฝนอบรมตนในเรื่องที่พึ่งศึกษา มี ๓ ประการคือ
๑. อธิสีลสิกขา สิกขาคือศีล หมายถึง การศึกษาเรื่องศีลฝึกฝนและปฏิบัติตนให้เรียบร้อยดีงามทางกาย วาจา ให้บริสุทธิ์ถูกต้องตามหลักของจุลศีล มัชฌิมศีล หรือมหาศีล การรักษาศีลให้บริบูรณ์ไม่ด่างพร้อย ย่อมสามารถกำจัดกิเลสอย่างหยาบได้ เมื่อกล่าวโดยอริยศีล ได้แก่การบำเพ็ญอริยมรรค ๓ ประการ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ

๒. อธิจิตตสกขา สิกขาคือจิตยิ่ง หมายถึง การศึกษาเรื่องจิตอบรมจิตให้มั่นคงเป็นสมาธิได้แก่การบำเพ็ญสมถกัมมัฏฐานของผู้สมบูรณ์ด้วยศีลจนบรรลุฌาน ย่อมสามารถกำจัดกเลสอย่างกลางได้ เมื่อกล่าวโดยการบำเพ็ญจิตขั้นสมาธิในอริยมรรค ได้แก่การทำให้บริบูรณ์ในมรรค ๓ ประการ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ

๓. อธิปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญายิ่ง หมายถึง การศึกษาเรื่องปัญญา อบรมตนให้เกิดปัญญาอย่างแจ่มแจ้ง ได้แก่การบำเพ็ญวิปัสสนากัมัฏฐานของผู้ได้ฌานแล้วจนบรรลุวิชชา ๘ ย่อมสามารถกำจัดกิเลสสที่เรียกว่าอนุสัยกิเลส และอวิชชาได้ เป็นการศึกษาขั้นสูงสุด เมื่อกล่าวโดยบำเพ็ญปัญญาในอริยมรรค ได้แก่การทำให้บริบูรณ์ในอริยมรรค ๒ ประการคือ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ

อบาย ๔ อย่าง

อบาย หมายถึง ภูมิ หรือดินแดนที่เกิดอันไม่มีความเจริญเป็นสถานที่เกิดของสัตว์ที่ไม่มีโอกาสทำบุญกุศล เป็นที่เกิดของผู้ทำบาปกรรมในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อตายแล้วผลบาปย่อมส่งให้ไปเกิดในอบายตามระดับบาปกรรมที่ทำ คือ

๑. นิรยะ นรก หมายถึง ที่เกิดของสัตว์ที่ต้องถูกทรมานจนหาความสุขไม่ได้เป็นที่เกิดของคนผู้มากด้วยโทสะ มี ๒ อย่าง คือ ๑. มหานรก นรกใหญ่ มี ๘ ขุม (สัญชีวะ, กาฬสุตตะ, สังฆาตะ, โรรุวะ, มหาโรรุวะ, ตปานะ, มหาตปานะ, อเวจี) อุสสทนรก นรกย่อย มี ๒๕๖ ขุม (อังคารกาสุ, โลหรสะ, กุกกุละ, อัคคิสโมหกะ, โลหกุมกะ, โลหกุมภี, คูถะ, สิมพลี, เวตตรณี) มหานรกขุมหนึ่ง มีประตู ๔ ทิศ แต่ละทิศมีอุสสทนรก ๘ ขุมย่อย มหานรกขุมหนึ่ง จึงมีนรกย่อย ๓๒ ขุม เมื่อ  x ๘ จึงเป็นอุสสทนรก ๒๕๖ ขุม

๒. ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน หมายถึง ที่เกิดของสัตว์ที่ไปโดยทางขวาง เจริญไปทางขวาง เป็นที่เกิดของคนมากด้วยโมหะ สัตว์ดิรัจฉานนี้ไม่มีที่อยู่อาศัยของตนโดยเฉพาะ คงอาศัยอยู่ในมนุษย์โลก แยกของเป็นประเภทใหญ่ ได้ ๔ ประเภท คือ
๑.อปทะ จำพวกที่ไม่มีขา
๒.ทวิปทะ จำพวกที่มี ๒ ขา
๓.จตุปปทะ จำพวกที่มี ๔ ขา
๔.พหุปปทะ จำพวกที่มีมากกว่า ๔ ขาขึ้นไป

๓. ปิตติวิสัย ภูมิแห่งเปรต หมายถึง ที่เกิดของสัตว์ที่มีความเดือดร้อนเพราะมีความอดอยากหิวโหย เป็นที่เกิดของคนที่มากด้วยโลภะ จัดเป็นประเภทใหญ่ๆ มี ๔ ชนิด คือ
จัดเป็นประเภทใหญ่ๆ มี ๔ ชนิด คือ
๑. ปรทัตตูปชีวิกเปรต เปรตที่เลี้ยงชีวิตด้วยส่วนบุญที่เขาอุทิศให้
๒. ขุปปีปาสิกเปรต เปรตที่อดอยาก หิวข้าวน้ำอยู่ตลอดเวลา
๓. นิชฌามตัณหิกเปรต เปรตที่ถูกไฟเผาให้ร้อนรนอยู่เสมอ
๔. กาลกัญจิกเปรต เปรตในจำพวกอสุรกาย

๔. อสุรกาย พวกอสูร หมายถึง ที่เกิดของสัตว์ที่ความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นฝึดเคือง เป็นอมนุษย์จำพวกหนึ่งที่เป็นศัตรูกับเทวดา ได้แด่ อสูร มาร หรือยักษ์ เป็นที่เกิดของคนมากด้วยโลภะ แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. เทวอสุรา อสุรกายที่เป็นเทวดา
๒. เปติอสุรา อสุรกายที่เป็นพวกเปรต
๓. นิรยอสุรา อสุรกายที่เป็นพวกสัตว์นรก

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงอธิบายว่า “อสุรกาย ในปทานุกรมสํสกฤต แก้ว่า ผู้เป็นอยู่ ได้แก่ ผีที่เป็นอทิสสมานกายประเภทที่ชั่ว ตรงกับผีที่เที่ยวหลอกหลอนมนุษย์ให้ตกใจกลัวต่างจากเปรตที่ไม่หลอกมีแต่คนไปพบเข้าเอง”

อปัสเสนธรรม ๔ อย่าง

อปัสเสนธรรม หมายถึง ธรรมเป็นที่พี่งพำนักพักพิง เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายและถูกต้องดีงามมี ๔ ประการคือ

๑. พิจารณาแล้วเสพของอย่างหนึ่ง คือ คำว่า “เสพ” ในที่นี้ ถ้าใช้กับปัจจัย ได้แก่ การกินหรือใช้สอย, กับบุคลได้แก่การคบ, หรือธรรม ได้แก่การปฏิบัติ, ดังนั้น เมื่อจะเสพปัจจัย บุคคล หรือธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องมีการพิจารณา คือต้องเลือกเสพปัจจัย บุคคล หรือธรรม ที่นำมาซึ่งความสุขสะดวกสบายไม่เกิดโทษภายหลัง ใช้สติพิจารณาก่อนเสมอจะได้ไม่ยึดติดในสิ่งเหล่านั้น

๒. พิจารณาแล้วอดกลั้นของอย่างหนึ่ง คือ คำนึงถึงผลได้ผลเสียและผลร้าย หรือโทษของการขาดความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งที่มากระทบทางกาย วาจา ใจของตน เช่น เมื่อประสบกับสภาพอากาศที่ผิดธรรมชาติ ความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือถ้อยคำด่าทอส่อเสียด เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ที่ไม่เจริญใจ ก็ใช้ขั้นติ ความอดทน ทมะ ความข่มใจไม่ให้โมโหฉุนเฉียวได้

๓. พิจารณาแล้วเว้นของอย่างหนึ่ง คือ เมื่อจะเสพปัจจัย บุคคล หรือธรรม ก็ต้องพิจารณาเลือกแล้วเว้นไม่เสพสิ่งที่จะมีผลเป็นความทุกข์เดือดร้อนต่อตนได้ในภายหลัง หักห้ามใจไม่ให้ไปข้องเกี่ยวกับสิ่งที่เสพแล้วเป็นเหตุนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย

๔. พิจารณาแล้วบรรเทาของอย่างหนึ่ง คือ พิจารณาถึงกิจที่ควรทำให้บรรเทาเบาบาง ได้แก่ การพยายามลด ละ เลิก ความตริตรึกนึกคิดไปในทางอกุศล เช่น ความนึกคิดทำผิดประเวณีในคู่ครองคนอื่น คิดปองร้ายทำลายล้างผู้อื่น หรือคิดเบียดเบียนทำให้ผู้อื่นได้รับความลำบาก เป็นต้น ให้เบาบางและห่างหายออกไปจากใจได้ในที่สุด

อัปปมัญญา ๔ อย่าง

อัปปมัญญา หมายถึง การภาวนาอันมีสัตว์หาประมาณมิได้เป็นอารมณ์ เป็นการแผ่ส่วนบุญกุศลหรือความปรารณาดีที่ไม่เจาะจงตัวผู้รับ ไม่มีกำหนดเขตแดน แต่แผ่ให้กับสรรพสัตว์ทุกทั่วหน้าทั่วไป มี ๔ อย่าง คือ

๑. เมตตา หมายถึง ความรักใคร่ที่ไม่มีความกำหนัดเจือปน มีแต่ความปรารถนาดีต่อผู้อื่นเป็นที่ตั้ง เป็นความรู้สึกที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ความลำเอียงหรือความคิดร้าย มีแต่ความรู้สึกมุ่งหวังความสุขความเจริญต่อผู้อื่นอย่างเสมอภาคกัน เมตตาจึงมีลักษณะคิดนำความสุขไปให้เขาส่วนเดียว มีคุณสมบัติละความคิดร้ายจองเวรผู้อื่น

๒. กรุณา หมายถึง ความสงสารคิดจะช่วยผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ มีความรู้สึกหวั่นไหวไม่สบายใจ เมื่อได้พบผู้อื่นได้รับความลำบาก รู้สึกเห็นอกเห็นใจ พลอยวิตกกังวลไปกับเขาด้วย ไม่มีความรู้สึกเหยียบย่ำซ้ำเติม เป็นเหตุให้คิดหาหนทางยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือทางใดทางหนึ่งเพื่อให้เขาหลุดพ้นจากสภาพนั้น กรุณาจึงมีลักษณะคิดขจัดทุกข์บำรุงสุขให้เขาอย่างเดียว มีคุณสมบัติละความคิดที่จะเบียดเบียนผู้อื่น

๓. มุทิตา หมายถึง ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี มีความรู้สึกชื่นชมยินดี พลอยดีใจไปกับเขาด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดี ได้รับผลสำเร็จเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นความรู้สึกที่ปราศจากความอิจฉาริษยาในความสำเร็จ หรือคุณความดีของผู้อื่น มุทิตามีลักษณะพลอยอนุโมทนาต่อเขาโดยส่วนเดียว มีคุณสมบัติละความอิจฉาตาร้อนต่อผู้อื่น

๔. อุเบกขา หมายถึง ความวางเฉย ความรู้สึกที่เป็นกลาง ไม่เอนเอียงเข้าข้าง มีความยุติธรรม เป็นความรู้สึกที่ปราศจากความคิดอคติ คือ ไม่เสียใจเมื่อคนรักพบความวิบัติ หรือไม่ดีใจเมื่อคนที่ตนไม่ชอบพบความพินาศ รวมถึงการวางตัววางใจให้เป็นกลางได้ด้วยความรู้สึกที่ว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมที่ทำมาแล้ว อุเบกขามีลักษณะวางเฉย ทำใจให้เป็นกลางในสัตว์ทุกหมู่เหล่า มีคุณสมบัติละความดีใจ เสียใจ หรือ ความกระทบกระทั่งแห่งใจต่อผู้อื่น

โอฆะ ๔ อย่าง

โอฆะ หมายถึง กระแสน้ำคือกิเลสที่ท่วมทับใจสัตว์โลกให้จมอยู่ในความต่ำทราม เป็นกระแสกิเลสที่ท่วมทับใจสัตว์โลกให้หลงติดอยู่ในภพ ต้องเวียนว่ายตยเกิดอยู่ในกระแสนั้นอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ ทำให้จมอยู่ในความเป็นปุถุชน ไม่อาจเลื่อนขั้นขึ้นเป็นกัลยาณชน และโดยสูงสุดไม่อาจเป็นพระอริยบุคคลได้ มี ๔ ประเภท คือ

๑. กาโมฆะ โอฆะคือกาม หมายถึง กระแสน้ำคือกิเลสที่ท่วมทับใจสัตว์ให้จมอยู่ในห้วงแห่งกามคุณ เป็นเหตุให้อยากได้ในสิ่งที่ตนรักใคร่ ต้องการมีไว้ครอบครอง ทำให้ต้องดิ้นรนแสวงหาสิ่งนั้นมาสนองตอบความอยากของตนอย่างไม่มีสิ้นสุด

๒. ภโวฆะ โอฆะคือภพ หมายถึง กระแสน้ำคือกิเลสที่ท่วมทับใจสัตว์ให้จมอยู่ในห้วงแห่งภพ คือ ความยินดีในอัตภาพของตน ในความเป็นนั่นเป็นนี่อย่างที่ใจตนเองนึกคิดอยากให้เป็น เป็นเหตุให้อยากเป็นอยู่ อยากเกิดในภพที่ตนปรารถนาต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

๓. ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ หมายถึง กระแสน้ำคือกเลสที่ท่วมทับใจสัตว์ให้จมอยู่ในห้วงแห่งความเห็นผิดจากคลองธรรม เป็นผู้มีความเห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ อย่าง เช่น เห็นว่าการให้ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล เป็นต้น เป็นเหตุให้ปฏิเสธเรื่องบาปบุญคุณโทษ สามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง

๔. อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา หมายถึง กระแสน้ำคือกิเลสที่ท่วมทับใจสัตว์ให้จมอยู่ในห้วงแห่งความหลง ความโง่เขลาเป็นเหตุให้ไม่รู้เหตุหรือผลตามความเป็นจริง แต่เกิดความรู้ในสิ่งทั้งหลายตามที่ตนคิดว่ามันเป็นอย่างนั้น หรือตนกำหนดให้มันเป็นไปอย่างนั้น กล่าวโดยสูงสุดคือความไม่รู้ในลักษณะ ๘ ประการ ได้แก่ ไม่รู้ในทุกข์, ไม่รู้ในเหตุเกิดทุกข์, ไม่รู้ความดับทุกข์, ไม่รู้วิธีการที่จะดับทุกข์, ไม่รู้อดีต, ไม่รู้อนาคต, ไม่รู้ทั้งอดีตทั้งอนาคต, ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท

กิจในอริยสัจ ๔ อย่าง

กิจในอริยสัจ หมายถึง ธุระหรืองานที่จะต้องทำในอริยสัจ คือ เมื่ออริยมรรคเกิดขึ้น ย่อมทำกิจ ๔ อย่างนี้ให้พร้อมในขณะเดียวกัน ซึ่งกุศลธรรมเหล่าอื่นที่ต่ำกว่าอริยมรรค แม้จะยังกิจ ๔ อย่างนี้ให้เกิดได้ แต่ก็ไม่เกิดพร้อมกันเหมือนอริยมรรค มีอยู่ ๔ ประการคือ

๑. ปริญญา กำหนดรู้ทุกขสัจ หมายถึง การกำหนดรู้ว่าความไม่สบายกายไม่สบายใจที่เกิดจาก สภาวทุกข์ ทุกประจำและปกิณณกทุกข์ ทุกข์ที่จรมาเป็นครั้งคราว เป็นทุกขสัจที่จะต้องกำหนดรู้ เพราะเป็นที่เกิดจากเหตุ คือสมุทัย เปรียบได้ กับ การจุดตะเกียงน้ำมันขึ้น

๒. ปหานะ ละสมุทัยสัจ หมายถึง การละตัณหา (กามตัณหา, ภวตัณหา, วิภาวตัณหา) ให้หมดไปเพราะเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ สมุทัย จึงเป็นกิจที่ต้องทำให้หมดสิ้นไป หากทำให้หมดไปได้มากเท่าใด ทุกข์อันเป็นผลจากตัณหาก็เป็นอันละให้สิ้นไปได้มากเท่านั้น เปรียบได้เหมือนไส้ตะเกียงที่ถูกเผาให้ไหม้ไปทีละน้อย

๓. สัจฉิกรณะ ทำให้แจ้งนิโรธสัจ หมายถึง พระนิพพานซึ่งเป็นธรรมที่ดับทุกขืและตัณหาทั้งมวลเป็นกิจที่จะต้องทำให้แจ้งต้องทำให้ถึง กล่าวคือเมื่อละตัณหาอันเป็นกิจที่ควรละได้แล้วจึงจะถึงพระนิพพาน เปรียนเหมือนแสงสว่างที่ได้จากการจุดตะเกียงนั้น

๔. ภาวนา ทำมัคคสัจให้เกิด หมายถึง การปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นแนววิธีที่ประเสริฐสำหรับดับทุกข์มัคคสัจ จึงเป็นกิจที่จะต้องปฏิบัติให้เกิดขึ้น เพราะเป็นแนวทางที่ทำให้บรรลุถึงจุดหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน ซึ่งทำให้ทุกข์ทั้งมวล หมดสิ้นเชื้อไป เปรียบเหมือนน้ำมันในตะเกียงที่ถูกจุดถูกเผาไหม้ให้เหือดแห้งหมดไป

บริษัท ๔ อย่าง

บริษัท หมายถึง คณะ, หมู่, หรือกลุ่มชน ใรที่นี้ใช้ หมายถึง หมู่ชนที่ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา เรียกอีกอย่างว่า พุทธบริษัท มี ๔ บริษัท คือ

๑. ภิกษุ หมายถึง ผู้มีการขอโดยสงบ, ผู้เห็นภัยในสงสาร, หรือผู้ทำลายกิเลส เป็นต้น เป็นคำที่ใช้เรียกนักบวชชายในพระพุทธศาสนาเท่านั้น และจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน ผ่านพิธีการอุปสมบทโดยถูกต้องตามที่พระธรรมวินัยกำหนด เช่นไม่เป็นบุคคลต้องห้าม, สงฆ์ที่ทำสังฆกรรมมีครบตามจำนวน, ทำสังฆกรรมในสีมาที่ถูกต้อง, การสวดกรรมวาจาถูกต้องไม่วิบัติเป็นต้น ปัจจุบันนี้อุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมวาจาเมื่ออุปสมบทเสร็จต้องรักษาสิกขาบท ๒๒๗ สิกขาบท

๒. ภิกษุณี ความหมายเหมือนภิกษุ เป็นคำที่ใช้เรียกนักบวชหญิงในพระพุทธศาสนา แต่ผู้ที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุณี นอกจากต้องมีคุณสมบัติเหมือนภิกษุ ยังต้องถือศีล ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปี เรียกว่า สิกขมานา เมื่อครบกำหนดถึงเข้าพิธีอุปสมบทในสำนักของภิกษุณีสงฆ์ก่อน แล้วจึงเข้าไปทำการอุปสมบทในภิกษุสงฆ์อีกรอบหนึ่ง เมื่ออุปสมบทเสร็จแล้วต้องรักษาสิกขาบท ๓๑๑ สิกขาบท

๓-๔. อุบาสก อุบาสิกา หมายถึง ชายหรือหญิงผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย ผู้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา น้อมรับเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต บำเพ็ญตนอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘ หรืออุโบสถศีลอย่างเคร่งครัด และมีคุณสมบัติเฉพาะคือ มีศรัทธา, มีศีล, ไม่ถือมงคลตื่นข่าว, ไม่แสวงเขตบุญนอกพระพุทธศาสนา, ทำบุญแต่ในพระพุทธศาสนา

พุทธบริษัท ๔ นับเป็นหัวใจของการสืบทอด ดำรงรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาให้อยู่ตลอดอายุกาล ๕๐๐ ปี

บุคคล ๔ อย่าง

บุคคล ท่านจัดไว้ตามระดับแห่งสติปัญญาและบารมีธรรมอันแก่กล้าหรืออ่อนกว่ากันได้ ๔ ประเภท คือ
๑. อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมพอท่านยกตัวอย่างหัวข้อขึ้นแสดง หมายถึง บุคคลผู้มากปัญญาดีมาก บารมีธรรมสูงมาก เมื่อได้ฟังธรรมเพียงเล็กน้อยแค่หัวข้อที่ท่านยกขึ้นกล่าวเท่านั้นก็สามารถตรัสรู้ได้ทันที เปรียบได้กับดอกบัวที่โผล่พ้นน้ำพร้อมที่จะเบ่งบานเมื่อต้องแสงพระอาทิตย์

๒. วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น หมายถึง บุคคลผู้มีปัญญาดี บารมีธรรมสูง เมื่อได้ฟังธรรมที่ท่านยกขึ้นกล่าวพร้อมขยายความแห่งหัวข้อธรรมนั้นให้เห็นชัดขึ้นถึงสามารถตรัสรู้ได้ เปรียบได้กับดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาปริ่มผิวน้ำพร้อมที่จะเบ่งบานในวันพรุ่งนี้

๓. เนยยะ ผู้พอแนะนำได้ หมายถึง บุคคลผู้มีปัญญาพอใช้ บารมีธรรมพอสมควร แต่อาศัยการได้รับฟังธรรมอยู่บ่อยๆ ใช้สติปัญญาเท่าที่มีอยู่พิจารณาไตร่ตรอง เมื่อไม่เข้าใจก็สอบถาม ทั้งชอบคบหากับท่านผู้รู้ ไม่อวดดื้อถือดี ก็สามารถบรรลุมรรคผล ได้ตามลำดับ จนถึงตรัสรู้ได้ในที่สุดอาจจะเป็นชาตินี้หรือชาติต่อไป เปรียบได้กับดอกบัวที่อยู่ในน้ำ เมื่อผ่านไปหลายวันเข้าก็จะโผล่ขึ้นมาเบ่งบานได้

๔. ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง หมายถึง บุคคลที่ขาดบารมีธรรม แม้ว่าจะได้ฟังธรรมมามาก ทรงจำไว้มาก สอนธรรมไว้มากแต่ไม่อาจตรัสรู้ธรรมในชาตินั้นได้ คือไม่สามารถที่จะบำเพ็ญฌานวิปัสสนา มรรคหรือผลใดๆ ให้บังเกิดขึ้นในชาตินั้น แต่ธรรมที่เขาได้ฟังหรือทรงจำไว้นั้น จักเป็นอุปนิสัยบารมีธรรมของเขาในชาติหน้าต่อๆ ไปได้ เปรียบได้กับดอกบัวที่จมอยู่ในโคลน มีโอกาสที่โผล่ขึ้นมาเบ่งบานได้ยาก นอกจากตกเป็นภักษาของเต่าหรือปลา

มรรค ๔ อย่าง

มรรค ในที่นี้หมายถึง ญาณคือความรู้ที่เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติตามสามารถกำจัดสังโยชน์ คือ อนุสัยกิเลสที่เป็นเครื่องผูกมัดจิตของสัตว์ให้ติดใจหลงไหลอยู่ในสังสารวัฏได้เด็ดขาด และยังหมายถึง ลำดับขั้นของการบรรลุมรรคแต่ละระดับ ซึ่งกำจัดสังโยชน์ ๑๐ ได้ไม่เหมือนกัน มี ๔ ระดับ คือ

๑. โสดาปัตติมรรค หมายถึง ญาณคือความรู้ที่เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติตามไหลเข้าสู่กระแสแห่งอริยมรรคเป็นครั้งแรก เป็นผู้ตกกระแสแห่งพระนิพพาน เมื่อผู้ปฏิบัติบรรลุโสดาปัตติมรรคแล้วสามารถกำจัดสังโยชน์ระดับต่ำ ๓ ประการ มี สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลลัพพตปปรมาส ได้อย่างเด็ดขาด

๒. สกทาคามิมรรค หมายถึง ญาณคือความรู้ที่เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติตามจะกลับมาปฏิสนธิในมนุสสภูมิอีกเพียงครั้งเดียว เมื่อผู้ปฏิบัติบรรลุสกทาคามิมรรคแล้ว สามารถกำจัดสังโยชน์ระดับต่ำ ๓ ประการนั้นได้อย่างเด็ดขาดเหมือนอย่างโสดาปัตติมรรคพร้อมทั้งลดระดับความร้อนแรงของราคะ โทสะ โมหะ ให้เจือจางลงด้วย

๓. อนาคามิมรรค หมายถึง ญาณคือความรู้ที่เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติตามจะไม่กลับมาปฏิสนธิในกามาวจรภูมิ ๑๑ อีก เมื่อผู้ปฏิบัติบรรลุอนาคามิมรรคแล้ว สามารถกำจัดสังโยชน์ระดับต่ำทั้ง ๕ ประการ มี สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส, กามราคะ, ปฏิฆะ, ได้ย่างเด็ดขาด

๔. อรหันตมรรค หมายถึง ญาณคือความรู้เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติตามบรรลุอรหันตผล ข้ามพ้นจากกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ โดยเด็ดขาด เมื่อปฏิบัติบรรลุอรหันตมรรคแล้ว สามารถกำจัดสังโยชน์ได้ทั้งหมด คือ สังโยชน์ระดับต่ำ ๕ อย่าง เหมือนอนาคามิมรรค และระดับสูงอีก ๕ มี รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจะ, อวิชชา ได้อย่างเด็ดขาด

ผล ๔ อย่าง

ผล หมายถึง ประโยชน์ที่พึ่งได้รับ หรืออานิสงส์แห่งญาณคือมรรคที่พระอริยบุคคลพี่งได้รับหลังจากที่กำจัดสังโยชน์ได้ตามลำดับชั้น ๔ ระดับ เหมือนกัน คือ

๑. โสดาปัตติผล หมายถึง ประโยชน์ที่พึ่งได้รับคือการไม่มีความตกต่ำ ไม่ไปเกิดในอบาย หลังจากที่โสดาปัตติมรรคกำจัดสังโยชน์ ๓ นั้นได้แล้ว เมื่อผู้ปฏิบัติบรรลุโสดาปัตติผลจึงเรียกว่า พระโสดาบัน

๒. สกทาคามิผล หมายถึงประโยชน์ที่พึ่งได้รับคือการกลับมาเกิดในโลกมนุษย์อีกเพียงชาติเดียวก็จะบรรลุพระอรหันตผล หลังจากที่สกทาคามิมรรคกำจัดสังโยชน์ได้ ๓ และลดความรุนแรงของราคะ โทสะ โมหะ นั้นลงได้แล้ว เมื่อผู้ปฏิบัติบรรลุสกทาคามิผลจึงเรียกว่า พระสกทาคามี

๓. อนาคามิผล หมายถึง ประโยชน์ที่พึ่งได้รับคือการไม่กลับมาปฏิสนธิในกามาวจรภูมิอีก หลังจากที่อนาคามิมรรคกำจัดสังโยชน์ระดับต่ำทั้ง ๕ นั้นได้แล้ว และจะบรรลุอรหัตตผลในภพที่ปฏิสนธิ คือ หรหมโลก ๕ ชั้น (อวิหา,อตัปปา,สุทัสสา,สุทัสสี,อกนิฏฐา) เมื่อผู้ปฏิบัติบรรลุอนาคามิผลจึงเรียกว่า พระอนาคามี

๔. อรหัตตผล หมายถึง ประโยชน์ที่ได้รับคือการพ้นจากความข้องอยู่ในโลกใดๆ เมื่อปรินิพพานแล้วไม่ตอ้องถือปฏิสนธิอีกเป็นการสิ้นภพสิ้นชาติ ข้ามพ้นจากสังสารวัฏ หลังจากที่อรหัตตมรรคกำจัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ นั้นได้แล้ว เมื่อผู้ปฏิบัติบรรลุอรหัตตผลเรียกว่า พระอรหันต์

ท่านกล่าวว่ามรรคกับผลเกิดขึ้นใกล้กันเพียงชั่วขณะจิตเท่านั้น คือ พอพ้นจากมรรคจิตก็เกิดเป็นผลจิต ไม่มีธรรมอย่างอื่นเกิดขึ้นคั่นในระหว่าและกล่าวอธิบายโดยบุคคลาธิษฐานไว้ว่า สังโยชน์เหมือนโรคในร่างกาย มรรคเหมือนการรักษาโรคให้หาย ผลเหมือนกับความสุขสบายอันเกิดแต่การสิ้นโรค

พระอริยบุคคล ๔ อย่าง

พระอริยบุคคล หมายถึง บุคคลผู้ได้บรรลุพระอริยผล เป็นผู้ประเสร็จไกลจากข้าศึกคือกิเลส แบ่งตามประเภทบุคคล มี ๔ ประเภท คือ

๑. พระโสดาบัน หมายถึง ผู้ตกกระแสแห่งพระนิพพาน ผู้ถึงกระแสอริยมรรคครั้งแรก เป็นพระอริยบุคคลผู้บำเพ็ญเพียรจนได้สำเร็จโสดาปัตติผล ยังเป็นพระเสขบุคคลที่ยังต้องมีการศึกษาบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุมรรคผลเบื้อสูงขึ้นไปจนกว่าจะบรรลุอรหันตผล พระโสดาบันตัดสังโยชน์ระดับต่ำ ๓ อย่าง คื่อสักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส ได้อย่างเด็ดขาด

๒. พระสกทาคามี หมายถึง ผู้จะมาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว เป็นพระอริยบุคคลผู้บำเพ็ญเพียรจนได้สำเร็จสกทาคามิผล ยังเป็นพระเสขบุคคลที่ยังต้องมีการศึกษาต่อไปจนกว่าจะบรรลุอรหันตผล เมื่อเสียชีวิตแล้วจะกลับมาเกิดในมนุษย์โลกอีกเพียงครั้งเดียวก็จะบรรลุอรหันตผลในชาติที่เกิดนั้น พระสกทาคามีตัดสังโยชน์ได้ ๓ อย่าง เหมือนพระโสดาบัน และลดระดับความร้อนแรงของราคะ โทสะ และโมหะ ให้เจือจางลงด้วย

๓. พระอนาคามี หมายถึง ผู้ไม่มาปฏิสนธิในกามาวจรภูมิ คือไม่กลับมาเกิดในภูมิที่ยังเสพกามอีก จะบรรลุอรหันตผลได้ในภพที่เกิดคือพรหมโลก เป็นพระอริยบุคคลผู้บำเพ็ญเพียรจนได้ในสำเร็จอนาคามิผล ยังเป็นพระเสขบุคคลที่ยังต้องมีการศึกษาบำเพ็ญเพียรต่อไปจนก่าจะบรรลุอรหัตตผล เมื่อชีวิตแล้วจะไปเกิดในพรหมโลก ๕ ชั้นเท่านั้น คือ อวิหา, อตัปปา, สุทัสสา, สุทัสสี, และอกนิฏฐา แล้วจะปรินิพพานในพรหมโลกนั้น พระอนาคามีตัดสังโยชน์ระดับต่ำ ๕ อย่าง คือ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส, กามราคะ, และปฏิฆะ ได้อย่างเด็ดขาด

๔. พระอรหันต์ หมายถึง ผู้ไกลจากกิเลส, ผู้กำจัดอริคือกิเลสได้แล้ว ผู้หักชี่กำของวงล้อสังสารวัฏได้แล้ว ผู้ควรแก่ปัจจัยและการบูชา เป็นพระอริยบุคคลผู้บำเพ็ญเพียรจนได้สำเร็จอรหัตตผล เป็นพระอเสขบุคคลผู้อยู่พรหมจรรย์แล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องศึกษาอีก พระอรหันต์ตัดสังโยชน์ ๑๐ ได้หมดสิ้น คือ ระดับต่ำ ๕ อย่าง เหมือนพระอนาคามี และระดับสูงอีก ๕ มี รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจะ, อวิชชา

อนุปุพพิกถา ๕ อย่าง

อนุปุพพิกถา หมายถึง เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดเป็นๆ จากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังธรรมชั้นสูง คือ อริยสัจ มี ๕ ประการ คือ

๑. ทานกถา กล่าวคือทาน หมายถึง การพรรณนาคุณเรื่องการให้ทานและอานิสงส์ของการให้ทาน ว่าเป็นเหตุให้ได้รับความสุข เพราะผู้รู้จักให้เป็นที่รักใคร่ของคนหมู่มาก เป็นบ่อเกิดแห่งโภคทรัพย์ทั้งปวง เป็นหลักประกันของชีวิตในเวลาจะสิ้นใจเป็นต้น

๒. สีลกถา กล่าวคือศีล หมายถึง การพรรณนาคุณเรื่องการรักษาศีลและอานิสงส์ของการรักษาศีลว่า ผู้มีศีล ย่อมไม่ประสบความเดือดร้อนเนื้อร้อนใจจากที่ไหนๆ เพราะมีศีลเป็นเหมือนอาภรณ์อย่างประเสริฐ เป็นหลักประกันในการได้สมบัติทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เป็นต้น

๓.  สัคคกถา กล่าวคือสวรรค์ หมายถึง การพรรณนาคุณเรื่องสวรรค์ว่า เป็นที่อันเพรียบพร้อมด้วยกามสุขอันเป็นทิพย์มีแต่สิ่งที่น่ารื่นเริงบันเทิงเริงใจ เป็นผลที่ได้รับจากการให้ทาน รักษาศีล เป้นต้น

๔. กามาทีนวกถา กล่าวถึงโทษแห่งกาม หมายถึง การพรรณนาโทษเรื่องของกามว่า แม้จะเป็นความสุข แต่ก็มีความทุกข์เจือปน ไม่มีความจีรังยังยืน มีโทษมากแต่คุณน้อย เพราะเป็นเหตุให้เวียนวายอยู่ในสังสารวัฏ เป็นต้น

๕. เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวถึงอานิสงส์แห่งการออกจากกาม หมายถึง การพรรณนาถึงการออกจากกามและอานิสงส์ว่าเป็นความปลอดโปร่งจากสิ่งล่อเร้าเย้ายวน เพื่อให้เกิดความพอใจที่จะคิดค้นหาวิธีการทำใจไม่ให้หมกมุ่นในกามนั้น วิธีการออกจากกามให้ได้ผลดีก็คือการออกบวชบำเพ็ญเพียร

มัจฉริยะ ๕ อย่าง

มัจฉริยะ หมายถึง ความตระหนี่ ความเสียดาย ความหวงแหน เป็นกิเลสที่ทำให้กลายเป็นคนใจแคบ เห็นแก่ตัว มี ๕ อย่างคือ

๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ คือ หวงแหนที่อยู่ หวงถิ่นอาศัย ไม่อยากให้คนอื่นพวกอื่นเข้ามาอาศัยปะปนอยู๋ร่วม

๒. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่สกุล คือ หวงแหนตระกูลของตนไม่อยากให้พวกอื่นมาเกี่ยวดองเป็นญาติด้วย หรือตระกูลที่ตนสนิทสนมคุ้นเคยไม่อยากให้ผู้อื่นเข้ามาตีสนิทด้วย

๓. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ คือ หวงแหนลาภผลและประโยชน์ทรัพย์สินของตน ไม่อยากแบ่งให้ผู้อื่น คอยกีดกันไม่ให้ผู้อื่นได้อย่างที่ตนได้

๔. วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ คือหวงแหนความดี ไม่อยากให้คนอื่นมีเทียบเท่ากับตนหรือได้ดีกว่าตน ได้ยินคำสรรเสริญเยินยอความดีของผู้อื่นก็ทนฟังไม่ได้

๕. ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม คือ หวงแหนความรู้ความสามารถ ไม่อยากให้ผู้อื่นได้ความรู้จากตนหรือมีความเท่าตนด้วยเกรงว่าผู้นั้นจะประสบความสำเร็จเกินหน้าตน

มาร ๕ อย่าง

มาร หมายถึง ผู้ทำให้ตาย ผู้ฆ่า คือขัดขวางมิให้มีโอกาสทำความดีได้โดยสะดวก คอยกำจัดความดีที่มีอยู่ในตัวบุคคลออกไป มี ๕ ประการ คือ

๑. ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์, ขันธ์ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นมารเพราะเป็นสภาพถูกปัจจัยปรุงแต่ง เป็นไปเพื่อทุกข์ ไม่คงถาวร ถูกบีบคั้นเพราะหิว, กระหาย, เจ็บป่วย ต้องดูแลรักษาอยู่ตลอดเวลา

๒. กิเลสมาร มารคือกิเลส, กิเลสทั้งที่เป็นวัตถุกามและกิเลสกามเป็นมาร เพราะเมื่อถูกครอบงำทำให้เดือดร้อนวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา เป็นตัวทำลายคุณงามความดีรวมทั้งกีดกันมิให้เกิดมีในตน

๓. อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร, อภิสังขารเป็นมารเพราะเป็นปรุงแต่ง ชักนำให้บุคคลทำบาป มีผลทำให้ชีวิตตกต่ำลงไปเรื่อยๆ จึงอยากที่จะพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด

๔. มัจจุมาร มารคือมรณะ, ความตายเป็นมาร เพราะกำจัดชีวิตให้หมดไปจากคุณประโยชน์ได้อย่างเด็ดขาด

๕. เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร หมายถึงเอาเทพผู้เป็นมารราชาธิราชที่ปกครองแดนมารอยู่ในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ซึ่งคอยขัดขวางทำลายไม่ให้โอกาสทำความดี ทั้งคอยหน่วงเหนี่ยวบุคคลมิให้ล่วงพ้นจากอำนาจของตน โดยซักให้ลุ่มหลงในกามสุข (ในพุทธกาลนี้ เปรียบได้กับพญาวสวัตดีมารที่คอยขัดขวางการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)

เวทนา ๕ อย่าง

เวทนา หมายถึง ความรู้สึกอารมณ์ คือการรับรู้อารมณ์ที่มากระทบนั้น แล้วก็รู้ตามปัจจัยที่มากระทบมี ๕ อย่างคือ

๑. สุข หมายถึง ความรู้สึกสบายกาย เพราะได้สัมผัสกับอารมณ์ที่ดี มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง
๒. ทุกข์ หมายถึง ความรู้สึกไม่สบายกาย เพราะได้สัมผัสกับอารมณ์ที่ไม่ดี หรือมีโรคภัยเกิดขึ้นในร่างกาย
๓. โสมนัส หมายถึง ความรู้สึกสบายใจ เพราะได้ประสบอารมณ์ที่ชอบ ถูกใจ ไม่มีเรื่องจุกจิกกวนใจ
๔. โทมนัส หมายถึง ความรู้สึกทุกข์ใจ เพราะได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่ชอบไม่ถูกใจมีแต่เรื่องกวนใจ

๕. อุเบกขา หมายถึง ความรู้สึกเฉยๆ เป็นความรู้สึกทางใจที่ไม่แสดงอาการดีใจ เสียใจ แต่มีความรู้สึกกลางๆ กับอารมณ์ที่มากระทบนั้น บางแห่งเรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา

จริต ๖ อย่าง

จริต หมายถึง ความประพฤติจนเคยชิน พื้นเพนิสัยเป็นกิริยาอาการที่ฝังติดแน่นในสันดาน ซึ่งมักแสดงออกมาให้เห็นมี ๖ ประเภท คือ

๑. ราคจริต พฤติกรรมของคนที่มีราคะเป็นปกติ
๒. โทสจริต พฤติกรรมของคนที่มีโทสะเป็นปกติ
๓. โมหจริต พฤติกรรมของคนที่มีโมหะเป็นปกติ
๔. วิตักกจริต พฤติกรรมของคนที่มีวิตกจริต
๕. สัทธาจริต พฤติกรรมของคนที่มีศรัทธาเป็นปกติ
๖. พุทธิจริต พฤติกรรมของที่มีปัญญาเป็นปกติ
จริตทั้ง ๖ สามารถสงเคราะห์ได้เป็น ๓ พวก คือ

๑. ราคจริต กับ สัทธาจริต จริตทั้งสองที่เสมอกันนั้น คือ ราคะเป็นหัวหน้าในฝ่ายอกุศล ส่วนสัทธาเป็นหัวหน้าในฝ่ายกุศล

๒. โทสจริต กับ พุทธิจริต เสมอกันคือ โทสะมีการเบื่อหน่ายในสิ่งที่ไม่ชอบ ส่วนปัญญา (พุทธิ) เบื่อหน่ายในสังขารธรรมทั้งปวง หรือโทสะ เกิดขึ้นเร็วเหมือนฟไหม้ฟางลุกโชนขึ้น ส่วนปัญญา ก็เกิดขึ้นเร็วคือสว่างแจ่มแจ้งในทันทีนั้น

๓. โมหจริต กับ วิตกจริต เสมอกันคือ โมหะมีอาการสงสัย ลังเล ส่วนวิตกก็คิดแล้วคิดอีก เหมือนกับว่าไม่แน่ใจ

ธรรมคุณ ๖ อย่าง

ธรรมคุณ หมายถึง คุณของพระธรรม ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่บ่งชี้ว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไร้ประโยชน์ ถือว่าเป็นกฎแห่งความจริง เป็นสัจธรรมที่มีคุณค่าอยู่ในตัว มีคุณ ๖ อย่าง คือ

๑. สวากขาโต ภควตา ธัมโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว หมายถึง พระธรรมคำสั่งสอนที่พระองค์ตรัสไว้อย่างถูกต้อง เป็นของจริง เป็นข้อปฏิบัติที่ป้องกันผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ให้ผลตามสมควรแก่การปฏิบัติตั้งแต่ระดับต่ำสุดถึงสูงสุด มีความไพเราะงดงาม ๓ วะยะคือ
ไพเราะงดงามในเบื้องต้น ด้วยการประกาศข้อปฏิบัติทางกาย วาจาให้เป็นระเบียบเรียบร้อย = ศีล
ไพเราะงดงามในท่ามกลาง ด้วยการประกาศข้อปฏิบัติที่ทำให้ให้ประณีต = สมาธิ
ไพเราะงดงามในที่สุด ด้วยการประกาศถึงคุณที่ประณีต อันเป็นผลมาจากศีลและสมาธิ = ปัญญา ความรู้แจ้งในกระแสธรรม

๒. สันทิฏฐิโก อันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง หมายถึง ผลของการบรรลุ ผู้ปฏิบัตเองเท่านั้นถึงจะรู้เห็น ไม่จำเป็นต้องเชื่อตามคำบอกเล่า นั่นคือ การปฏิบัติธรรม การรู้ธรรม เป็นความรู้พิเศษ ประกอบด้วยการรส มีรสเป็นอัศจรรย์ ยากที่จะบอกแก่กันได้ว่าเป็นเช่นไร ต่อเมื่อได้ปฏิบัติเอง ได้บรรลุเองถึงจะรู้ความรู้สึกเช่นนั้น ดังพุทธภาษิตว่า รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง

๓. อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล หมายถึง การปฏิบัติธรรมไม่ต้องเลือกวันเวลา ไม่ต้องมีฤกษ์ยาม เพราะชื่อว่าทำดีสามารถทำได้ทุกขณะ พืชพันธุ์ธัญญาหารจะได้ผลผลิตก็ต้องรอถึงฤดูกาล แต่ผลของธรรมหาเป็นดเช่นนั้นไม่ เมื่อปฏิบัติในข้อใดอย่างแท้จริงแล้ว ย่อมอำนวยผลในทันใด พร้อมทั้งเป็นเสบียงของชีวิตในภพชาติต่อๆ ไปด้วย ตราบจนเข้าถึงนิพพาน

๔. เอหิปัสสิโก ความเรียกให้มาดู หมายถึง ทรงเชิญชวนให้มาปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ว่าที่พระองค์ตรัสนั้นเป็นจริงหรือไม่อย่างไร ทั้งในทางดีหรือชั่ว โดยไม่มีความวิตกหรือเกรงกลัวว่าถ้าเข้ามาเห็นแล้วจะไม่เกิดความเลื่อมใส นอกจากว่าคนที่มาพิสูจน์นั้นขาดวิจารณญาณในการพิสูจน์ เพราะพระธรรมไม่ใช่สิ่งที่เป็นวัตถุจับต้องได้ ต้องพิสูจน์ด้วยวิธีฝึกหัดขัดเกลาจริตอัธยาศัยถึงจะสามารถตอบข้อพิสูจน์เหล่านั้นได้

๕. โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว หมายถึง เป็นธรรมที่เหมาะสำหรับทุกคนที่จะพึงปฏิบัติได้ โดยไม่เลือกเพศ วัย หรือฐานะ เพราะพระธรรมเป็นของดี ของจริง ผู้ต้องการความดี ความเจริญ ก็สามารถปฏิบัติได้ เพราะเป็นเรื่องอยู่ในวิสัย ไม่ใช่เกินวิสัยที่ใครๆ ไม่อาจปฏิบัติหรือน้อมนำเอาใส่ตัวไม่ได้ อยู่ที่ว่าใครจะน้อมใจเข้าไปปฏิบัติธรรมหรือไม่ คือรู้ธรรมไม่เท่ากับปฏิบัติธรรม ไม่ใช่สักแต่ว่ารู้ แต่ปฏิบัติตามไม่ได้

๖. ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูพึงรู้เฉพาะตน หมายถึง วิญญูชนผู้เข้าถึงวิมุตติ ย่อมจะรู้รสแห่งพระธรรมเฉพาะตนเพราะเป็นสิ่งที่จะบอกให้ใครเชื่อด้วยลำพังคำพูดไม่ได้ด้วยว่าผลที่เกิดจากปฏิบัติผู้ปฏิบัตเท่านั้นจะบรรลุหรือรู้เห็นได้ ผู้ไม่ปฏิบัติจะพลอยบรรลุตาม รู้เห็นตามหาได้ไม่

วิสุทธิ ๗ อย่าง

วิสุทธิ หมายถึง ความบริสุทธิ์ในการประพฤติพรหมจรรย์ที่ผลมาจากเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อชำระกาย วาจา ใจ รวมถึงปัญญาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ มี ๗ ประการ คือ

๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล หมายถึง ความบริสุทธิ์ที่ได้จากการรักษาปริสุทธิศีล (ปาติโมกขสังวร อินทรียสังวร อาชีวปาริสุทธิ ปัจจยปัจจเวกขณ์) มิให้ขาดตกบกพร่อง หรือการรักษาศีลตามเพศภาวะของตนไว้ได้อย่างเคร่งครัด สำรวมระวังมิให้ขาดด่างพร้อยไปได้

๒. จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต หมายถึง ความบริสุทธิ์ที่ได้จากการรักษาจิตให้สงบตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ของกัมมัฏฐาน เป็นจิตประกอบด้วยสมาธิ ในขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ มีความบริสุทธิ์จากนิวรณธรรม เหมาะเป็นปทัฏฐานแห่งวิปัสสนา

๓.  ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ หมายถึง ความบริสุทธิ์ที่ได้จากการทำความเห็นให้ถูกต้อง เป็นปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงว่า รูปมีความแปรผันเป็นลักษณะ นาม มีการน้อมไปเป็นลักษณะเป็นต้น เป็นการกำหนดรูปนามตามกฎของสามัญญลักษณะ เรียกอีกอย่างว่า “นามรูปปริจเฉทญาณ” ญาณที่กำหนดเห็นว่าตนอื่นนอกจากนามรูปไม่มี

๔. กังขาวิตกณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย หมายถึง ความบริสุทธิ์ของปัญญาที่รู้เหตุปัจจัยซึ่งทำให้รู้รูปนามที่เป็นอารมณ์นั้นปรากฏขึ้น เป็นเหตุให้ละความสงสัยในสักกายทิฏฐิความเป็นตัวตนของรูปนาม ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และจักมีในอนาคตลงได้

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง หมายถึง ความบริสุทธิ์ของปัญญาที่รู้ธรรมพิเศษว่าเป็นทางหรือไม่ใช่ทาง คือ เมื่อหมดความสงสัยรูปนามในอดีต อนาคตแล้วเห็นปัจจุบันธรรม ก็ตั้งใจพิจารณาให้รู้แน่นอนว่า ทางไหนถูก ทางไหนผิด

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ หมายถึง ความบริสุทธิ์ของปัญญาที่รู้ทางปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง คือ เมื่อรู้ว่านี้เป็นทางปฏิบัติที่ถูก ก็น้อมจิตสู่วิปัสสนาญาณ ยกรูปนามขึ้นเป็นอารมณ์ด้วยวิปัสสนาญาณ ๙ ในที่สุดย่อมเห็นโลกุตตรธรรม ที่เรียกว่า โคตรถภูญาณ

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ หมายถึง ความบริสุทธิ์ของปัญญาที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นเหตุให้เข้าถึงความดับกิเลสตัณหาละสังโยชน์ได้อย่างสิ้นเชิง คือเป็นญาณของอริยมรรค ๘ (โสดาปัตติมรรค, สกทาคามิมรรค, อนาคามิมรรค, อรหันตมรรค) ที่เป็นเหตุให้ตัดสังโยชน์ได้ตามอริยมรรคนั้นๆ

วิสุทธิ ๗ นั้น สีลวิสุทธิ ไม่เป็นสมถะและวิปัสสนา แต่เป็นฐานของสมถะ จิตตวิสุทธิ เป็นสมถะ อีก ๕ ข้อ เป็น วิปัสสนา และวิสุทธิ ข้อ ๑-๖ เป็นโลกิยะ ข้อ ๗ เป็นโลกุตตระ

อวิชชา ๘ อย่าง

อวิชชา หมายถึง ความไม่มรู้, ความเขลาไม่รู้จริงในสิ่งต่างๆ ๔ ข้อต้น ท่านมุ่งถึงความไม่รู้ในอริยสัจ  มี ๘ อย่าง คือ

๑. ไม่รู้จักทุกข์ คือคนส่วนใหญ่เคยประสบกับทุกข์มาทั้งนั้น ทั้งทุกข์ทางกายที่เกิดกับปัจจัยภายนอก (หนาว, ร้อน, หิว, กระหาย..) หรือปัจจัยภายในที่เรียกว่าทุกข์ประจำสังขาร (ผมหงอก ฟันหัก หูพร่า ตามัว) และทุกข์ทางใจ (เสียของรัก จากของชอบ) แต่ไม่รู้จักทุกข์ตามความเป็นจริงว่าเป็นสิ่งทนได้ยาก

๒. ไม่รู้จักเหตุเกิดแห่งทุกข์ คือ ไม่รู้ถึงต้นสายปลายเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เพราะส่วนใหญ่มัวแต่โทษว่า สิ่งอื่นหรือผู้อื่นสร้างทุกข์ให้กับตน โดยไม่ยอมเข้าใจว่า ที่เป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้เกิดจากตัณหาความทะยานอยากในใจของตน

๓. ไม่รู้จักความดับทุกข์ คือ เมื่อไม่รู้เหตุผลไม่ยอมรับว่าตัณหาในจิตใจของตนต่างหากเป็นตัวให้เกิดทุกข์จึงไม่รู้ว่า หากจะดับทุกข์ได้สนทต้องดับตัณหานั้นเสียก่อน ทุกข์ถึงจะดับ

๔. ไม่รู้จักทางถึงความดับทุกข์ คือ ไม่รู้ถึงวิธีการที่จะทำให้ทุกข์ดับไป เพราะไม่รู้ว่าอริยมรรค ๘ เป็นแนวทางที่ผู้ปฏิบัติตามสามารถดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง

๕. ไม่รู้จักอดีต คือ ไม่รู้ว่าผลชั่วที่ตนได้รับในปัจจุบันนี้ มีสาเหตุมาจากการทำความเลวไม่ดีมาก่อน อาจจะเป็นในอดีตชาติหรือในชาตินี้ คนพวกนี้มักจะมีความคิดว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชาวได้ดีมีถมไป เมื่อกรรมตามสนองทันในปัจจุบันวันนี้ จึงไม่รู้จักสืบสาวหาเหตุการณ์ที่ตนทำผ่านๆ มา เรียกว่า ไม่รู้จักเหตุ

๖. ไม่รู้จักอนาคต คือ ไม่รู้ว่าความชั่วที่ตนทำในวันนี้ จะส่งผลให้ตนได้รับความทุกข์ยากลำบากในวันข้างหน้า คนพวกนี้ไม่เชื่อผลของกรรมว่ามีอยู่จริง จึงไม่สามารถคาดการณ์ถึงผลที่ตนจะต้องได้รับในอนาคตได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เรียกว่า ไม่รู้จักผล

๗. ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต คือ ไม่รู้ว่าผลชั่วที่ตนได้รับในปัจจุบันที่มีสาเหตุจากการทำชั่วแต่ครั้งอดีต แล้วยังตั้งหน้าตั้งตาทำความชั่วต่อไปไม่คิดกลับตัวกลับใจ เพราะถูกความไม่รู้ผิดบังปัญญาไว้ จึงทำให้ไม่เชื่อว่า กรรมและกฎแห่งกรรมมีจริง จึงต้องก้มหน้ารับผลกรรมชั่วต่อไปอย่างไม่รู้จบสิ้น เพราะไม่รู้จักเชื่อมโยงอดีตและผลในอนาคตให้สืบเนื่องถึงกันได้ เรียกว่า ไม่รู้จักทั้งเหตุทั้งผล

๘. ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท คือไม่รู้ตามความเป็นจริงว่าสภาวะธรรมต่างๆ เป็นเหตุเป็นผลของกันและกันเนื่องกันไปเหมือนกับลูกโซ่ที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นสายฉะนั้น เมื่อไม่รู้เช่นนี้จึงทำให้ต้องวนเวียนอยู่กับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างไม่รู้จบสิ้น

พุทธคุณ ๙ อย่าง

พุทธคุณ หมายถึง พระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า เป็นพระเนมิตกนาม ได้แก่พระนามที่ตั้งตามพระลักษณะหรือคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวของพระพุทธเจ้ามี ๙ ประการ คือ

๑. อรหัง เป็นพระอรหันต์ หมายถึง พระพุทธเจ้าทรงกำจัดทำลายลงเสียได้ซึ่งศัตรูคือสัพพกิเลส ถอนขึ้นเสียได้ซึ่งการเวียนว่ายตายเกิด เพราะทรงเป็นพระอรหันต์ ได้แก่ ๑.เป็นผุ้ไกลจากิเลส ๒.เป็นผู้กำจัดอริคือกิเลสได้ด้วยอริยมรรค ๓.เป็นผู้หักเสียซึ่งกงกำแห่งสังสารวัฏ ๔.เป็นผู้ควรแก่ไทยธรรมทั้งหลาย มีปัจจัย ๔ เป็นต้น พร้อมทั้งการบูชาพิเศษที่มนุษย์และเทวดานำมาบูชา ๕.เป็นผู้ไม่มีที่ลี้ลับในการทำบาป

๒. สัมมาสัมพุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง หมายถึงการตรัสรู้อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นการค้นพบความจริงอย่างประเสริฐ เป็นของจริงแท้ไม่แปรผันของพระพุทธเจ้า รวมถึงได้ตรัสรู้สรรพธรรมทั้งปวง ทั้งฝ่ายที่ควรรู้ควงละ ควรทำให้เจริญโดยชอบด้วยพระปัญญาของพระองค์เอง

๓. วิชชาจรณสัมปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ หมายถึงพระองค์สมบูรณ์ทั้งภูมิปัญญาความรู้ ได้แก่ วิชชา ๓ วิชชา ๘ และเพียบพร้อมด้วยข้อวัตรปฏิบัติ ได้แก่จรณะ ๑๕ จึงทรงมีความถึงพร้อมด้วยความรู้ และการปฏิบัติพระองค์ทั้งสองส่วนเสมอเหมือนกัน

๔. สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว หมายถึง การดำเนินไปของพระพุทธเจ้าเป็นความงาม คือบริสุทธิ์ หาโทษมิได้ เหตุที่เสด็จไปดีแล้วเพราะ ๑.มีการดำเนินไปไม่ขัดข้องตามทางแห่งอริยมรรค ๒.มีการดำเนินไปสู่สถานที่อันดี คือ พระนิพพานอันเป็นอสังขตธรรม ๓.มีการดำเนินไปโดยไม่มีการย้อนกลับมาสู่อำนาจของอาสวกิเลสทั้งหลายเพราะกำจัดได้อย่างเด็ดขาด ๔.มีการดำเนินไปเพื่อประโยฃน์สุขของชาวโลกทั้งมวล ๕.มีการตรัสโดยชอบ ตรัสแก่พระวาจาที่สมควรในฐานะอันสมควร

๕. โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก หมายถึง พระองค์ทรงรู้ทรงเข้าใจความเป็นไปของโลกอย่างทะลุปรุโปร่ง ทั้งโดยความเป็นสภาวะ คือความเป็นจริง โดยสมุทัย คือเห็นเป็นแดนเกิด โดยนิโรธ คือความดับ โดยนิโรธุบาย คืออุบายบรรลซึ่งความดับในโลก ๓ ได้แก่ สังขารโลก สัตว์โลก โอกาสโลก

๖. อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ เป็นสารถีแห่งบุรุษพึงฝึกได้ ไม่มีบุรุษอื่นยิ่งกว่า หมายถึง พระองค์ทรงเป็นนักฝึกฝนทรงขับ ทรงนำไปซึ่งเวไนยสัตว์ที่สมควรฝึกได้ เพราะการสอนการฝึกให้ลด ละ เลิกจากกิเลสเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งนัก แต่พระองค์ก็สามารถฝึกได้ นำเหล่าสัตว์ข้ามพ้นจากวัฏฏสงสาร ให้ทัดเทียมกับพระองค์ด้วยคุณ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นต้น

๗. สัตถา เทวมนุสสานัง เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย หมายถึงพระองค์ทรงเป็นครูของโลก คอยพร่ำสอนชี้แนะทางสว่างเพื่อให้เกิดความไม่ประมาทและให้มีความอุตสาหะพากเพียรที่จะได้รับประโยชน์ที่ควรได้ในชีวิต คือ ประโยชน์ในชาตินี้ ประโยชน์ในชาติหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน แก่เทวดาและมนษย์ทั้งหลายอย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากพระวรกายของพระองค์เลย

๘. พุทโธ เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว หมายถึงพระองค์ทรงเป็นผู้ปลุกสัตวโลกทั้งปวงให้ตื่นจากความหลับ ความมัวเมาต่างๆ เพราะ ๑.ทรงเป็นผู้ตื่นแล้ว ด้วยการตื่นจากกิเลสตัณหาอวิชชา ๒.ทรงเป็นผู้เบิกบานแล้ว ด้วยการเบิกบานพระทัยจากการตื่นจากสัพพกิเลสทั้งปวงนั้น ๓.ทรงเป็นผู้รู้ด้วยการรู้เญยยธรรม ๔.ทรงเป็นผู้ปลุก ด้วยการปลุกสัตว์โลกให้ตื่นจากกิเลสตัณหา จากการถือชั้นวรรณะ ให้สู้กับความชั่วและกำจัดความชั่วทั้งปวง เพื่อให้บรรลุถึงคุณความดีในชีวิตเป็นเบื้อต้น ถึงมรรคผลนิพพพานเป็นที่สุด

๙. ภควา เป็นผู้มีโชค หมายถึง พระองค์หักกงกำแห่งสังสารวัฏกำจัดอาสวะกิเลสทั้งปวงได้แล้ว นับเป็นผู้โชคดีอย่างมหาศาลที่ทรงค้นพบหลักธรรมอันเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติเพื่อยังความสงบสุขให้เกิดแก่สัตว์โลกทั้งมวล และทรงจพแนกธรรมคือ แสดงธรรมและทำข้อธรรมที่มีความลึกซั้งให้ตื้น เพื่อให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้โดยง่าย แล้วทรงแจกจ่ายแก่ผู้ต้องการโดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ทรงจำแนกแจกตามอุปนิสัยของผู้รับกระแสแห่งพระธรรมนั้นๆ

พระพุทธคุณ ๙ จัดลงในสมบัติ ๒ คือ ข้อ ๑-๕ จัดเป็นอัตตสมบัติ ข้อ๖-๙ จัดเป็นปรหิตสมบัติ และย่อลงในพุทธคุณ ๓ คือ ข้อ ๑ เป็นวิสุทธิคุณ ข้อ ๒, , , ๘ เป็นปัญญาคุณ ข้อ ๔, , , ๙ เป็นกรุณาคุณ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า นวรหคุณ (นวารหคุณ)

สังฆคุณ ๙ อย่าง

สังฆคุณ หมายถึง คุณของพระสงฆ์ ในที่นี้ท่านหมายถึงพระสงฆ์ผู้บรรลุโลกุตตรธรรมตั้งแต่ชั้นโสดาบันเป็นต้นไป เรียกเต็มว่า พระอริยสงฆ์ คุณ ๔ ข้อต้น เป็นคุณประโยชน์ส่วนตัวของท่าน คุณ ๕ ข้อหลัง เป็นคุณประโยชน์ที่เกื้อกูลต่อผู้อื่นรวมเป็น ๙ ประการ คือ

๑. สุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว หมายถึง การปฏิบัติเป็นสัมมาปฏิบัติ ปฏิบัติในทางที่นำไปสู่พระนิพพาน ปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม คือ ปฏิบัติไปตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ไม่ให้ปฏิบัติผิดแผกไปจากพระธรรมวินัย ทางปฏิบัติที่ดีที่สุดคืออริยมรรค ๘

๒. อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว หมายถึง การปฏิบัติที่มุ่งตรงต่อพระนิพพาน คือปฏิบัติถูกต้องตรงตามหลักของอริยมรรค ๘ นั้น อันเป็นเหตุมุ่งเข้าสู่กระแสของพระนิพพานและบรรลุพระนิพพานได้เป็นที่สุด ปฏิบัติตรงไปตรงมา และถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย เพื่อประโยชน์และผู้อื่นเป็นที่ตั้ง

๓. ญายปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม หมายถึง การปฏิบัติเพื่อธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ ได้แก่ ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น ปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากทุกข์ในปัจจุบัน เรื่อยไปจนถึงออกจากทุกข์ในสังสารวัฏ ปฏิบัติเพื่อปลดเปลื้องอาสวกิเลสให้ออกไปจากจิตสันดาน รวมความคือเป็นการปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่พระนิพพาน

๔. สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร หมายถึง การปฏิบัติตามปฏิปทาอันชอบยิ่งนัก เป็นปฏิปทาสายกลางที่ไม่เข้าไปใกล้ทางสุดโต่ง ๒ ทาง คือ การปฏิบัติตนให้หมกมุ่นพัวพันในกามสุขและการบำเพ็ญพรตที่ทรมานตนให้ลำบาก แต่เป็นผู้มีข้อวัตรปฏิบัติที่นำมาซึ่งความเลื่อมใส จึงอยู่ในฐานะที่ควรรับสามีจิกรรม (การกระทำที่สมควรยิ่งจากผู้อื่น) เช่น การต้อนรับ การเคารพนับถือ หรือการทำสักการบูชาจากผู้เลื่อมใส เป็นต้น

๕. อาหุเนนย เป็นผู้ควรของคำนับ หมายถึง เป็นผู้ควรแก่สักการะที่นำเขามาบูชา เป็นผู้ควรแก่การคำนับ คือมีการปฏิบัติตนอยู่ในฐานะที่เหมาะสมที่บุคคลควรนำเครื่องสักการะที่เขานำมาเคารพบูชาคุณ เพราะเป็นผู้ทำให้เครื่องสักการะที่เขานำมาเคารพบูชามีผลมาก คือทำให้ผู้ทำสักการะบูชาท่านได้รับอานิสงส์มาก

๖. ปาหุเนยโย เป็นผู้ควรของต้อนรับ หมายถึง เป็นผู้ควรแก่เครื่องสักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ คือ ของต้อนรับแขกท่านกล่าวว่านอกจากญาติสนิทมิตรสหายเสียแล้ว มีแต่พระสงฆ์เท่านั้นมีค่าควรที่จะรับของเหล่านั้น เพราะท่านเป็นผู้ควรแก่การบูชาโดยประการทั้งปวง

๗. ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรของทำบุญ หมายถึง เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน คือ สิ่งของที่เขาเตรียมไว้สำหรับทำบุญอุทิศแก่ผู้วายชนม์ เพราะท่านเป็นผู้ทำให้ทักษิณานั้นมีผลมากแก่ผู้ตายไปแล้ว และตัวผู้ถวายเองก็ได้อานิสงส์ด้วย

๘. อัญชลิกรณีโย เป็นผู้ควรทำอัญชลี หมายถึง เป็นผู้แก่การกราบไหว้ได้อย่างสะดวกสนิทใจ เพราะท่านเป็นผู้มีความดีอยู่ในตัว ไม่มีกิเลสอันเป็นเหตุทำให้โลกเดือดร้อน จึงอยู่ในฐานะที่ใครๆ จะกราบไหว้ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ มีผลช่วยให้ผู้ไหว้ไพบูลย์ด้วยพร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ อีกด้วย

๙. อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นทายาท เป็นผู้นำมรดกคือศาสนธรรม เป็นผู้สืบสานพระพุทธศาสนาให้ดำรงมั่นเป็นหลักฐานอยู่จนถึงปัจจุบัน และขันธสันดานของท่านก็บริสุทธิ์ ทักษิณาที่ทายกถวายแก่ท่านจึงมีผลานิสงส์มาก เหมือนนาที่มีดินดีหว่านพืชลงไปก็ให้ผลไพบูลย์

บารมี ๑๐ อย่าง

บารมี หมายถึง การบำเพ็ญคุณสมบัติอย่างเต็มที่ การบำเพ็ญคุณความดีที่จะถึงขั้นเป็นบารมีได้นั้นต้องทำอย่างยิ่งยวดทำด้วยเจตนาและสัจจะที่มั่นคง แม้ชีวิตก็สละได้เพื่อรักษาคุณความดีที่บำเพ็ญนั้น มี ๑๐ ประการ คือ

๑. ทานบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยการให้ทานอย่างยิ่งยวด มีความตั้งใจแน่วแน่ในการปฏิบัติตนให้เป็นผู้รู้จักให้ปัน การเสียสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังประโยชน์ตอบแทนจากผู้รับ เน้นหนักไปในทางการให้ทั้งที่เป็นอามิสทานและธรรมทาน

๒. สีลบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยการรักษาศีลอย่างยิ่งยวด มีการตั้งใจแน่วแน่ในการรักษาควบคุมการประพฤติทางกาย วาจาให้เรียบร้อย ให้ปราศจากความมัวหมอง ไม่ให้ผิดปกติธรรมดา เห็นโทษในการทำผิดศีล

๓. เนกขัมมบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยการออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่อย่างยิ่งยวด มีความตั้งใจแน่วแน่ในการพยายามปลีกตัวปลีกใจ ให้หลุดพ้นจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ขัดเคือง หลงหรือมัวเมา เป็นต้น การบำเพ็ญบารมีข้อนี้ที่ดีที่สุด คือการออกบวช เป็นวิธีทำให้ปลีกตัวปลีกใจออกจากกามได้ผลดีกว่าวิธีอื่น

๔. ปัญญาบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยการดำเนินไปในปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริงอย่างยิ่งยวดมีความตั้งใจแน่วแน่ในการศึกษาหาความรู้ทั้งจากการฟัง การคิดพิจารณาไปตามที่ได้ยินได้ฟังมา และการลงมือปฏิบัติตามที่พิจารณาแล้วนั้นจนเกิดปัญญาขึ้น เมื่อมีปัญญาแล้วก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น ด้วยชี้ให้เห็นเหตุแห่งความเสื่อมหรือความเจริญในชีวิต ปัญญาชั้นสูงสุดคือการพิจารณาเห็นโทษในสังขารแล้วหาทางปฏิบัติอันสามารถถ่ายถอนตนให้หลุดพ้นจากสังสารทุกข์ได้

๕. วิริยะบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยความเพียรในทางที่ถูกต้องอย่างยิ่งยวด มีความแกล้วกล้าบากบั่น ไม่ท้อแท้ต่อปัญญาอุปสรรคที่จะมาขัดขวางการทำความดีความงามที่ตั้งใจทำอย่างแน่วแน่นั้น เพียรพยายามอยู่เรื่อยไปอย่างเสม่ำเสมอจนกว่าจะบรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้

๖. ขันติบารมี หมายถึง การบำเพ็ญที่ต้องใช้ความอดทนอย่างยิ่งยวด มีความอดทนในการควบคุมตนไม่ให้ทำความชั่ว คือไม่ลุแก่อำนาจกิเลสที่เกิดขึ้นแล้วชักนำใจให้อยากทำความชั่ว แต่อดทนไว้ไม่ยอมทำ และอดทนต่อการทำความดี แม้บางครั้งไม่อยากทำก็อดทนที่จะทำ คือมีความอดทนที่ควบคุมจิตใจตนให้อยู่ในอำนาจของเหตุผลที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

๗. สัจจบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยการยึดถือสัจจะอย่างยิ่งยวด มีความตั้งใจว่าจะทำสิ่งใดแล้วก็ทำสิ่งนั้นอย่างแน่วแน่ไม่เปลี่ยนความตั้งใจที่จะทำนั้นง่ายๆ เป็นคนพูดจริง ทำจริง ตั้งใจอยู่ในจุดหมายอันชอบธรรมที่ตั้งไว้แต่แรก

๘. อธิฏฐานบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยใจที่ตั้งมั่นอย่างยิ่งยวด มีปณิธานในชีวิตที่แน่วแน่มั่นคง แล้วตั้งหน้าตั้งตาทำตามนั้นด้วยหัวใจที่กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว แม้ชีวิตก็สละได้หรือบางครั้งอาจเกิดจากการที่ทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็อธิษฐานใจอย่างตั้งมั่นเพื่อให้ได้ผลอย่างที่ปรารถนา เช่นพระโพธิสัตว์ปรารถนาพุทธภูมิ เป็นต้น

๙. เมตตาบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยการแผ่เมตตาจิตต่อสรรพสัตว์อย่างยิ่งยวด มีความรักปรารถนาดี มีไมตรีต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์เสมอกัน ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง หวังแต่ควาสุขความเจริญแก่เขาเป็นที่ตั้ง เมื่อประสบพบเห็นเขาได้รับความลำบากเดือดร้อนก็หาทางช่วยเหลือผ่อนคลายให้อย่างเต็มกำลัง

๑๐. อุเบกขาบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยใจที่เป็นกลางอย่างยิ่งยวด มีความหนักแน่น สม่ำเสมอ เที่ยงธรรมไม่เอนเอียงเข้าข้างด้วยอำนาจของอคติต่างๆ การบำเพ็ญอุเบกขานี้มีลักษณะการวางเฉย แต่ไม่ใช่เฉยเมยคือรู้จักวางตัววางใจให้เป็นกลางในสรรพสัตว์ได้ทุกหมู่เหล่าโดยนึกว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน

บารมี นั้นท่านกล่าวว่า หากจะบำเพ็ญให้บริบูรณ์นั้นต้องให้ครบทั้ง ๓ ระดับไ ละ ๑๐ รวมเรียกว่าบารมี ๓๐ ทัศ คือ
๑. บารมี เป็นบารมีระดับสามัญ เช่น ทานบารมี ได้แก่การให้ทรัพย์สินเงินทองข้าวของต่างๆ ตลอดถึงแรงกายเป็นทาน
๒. อุปบารมี เป็นบารมีระดับกลาง เช่น ทานอุปบารมี ได้แก่ การให้อวัยวะบางอย่าง เช่น ตา หัวใจ ไต เป็นทาน
๓. ปรมัตถบารมี เป็นบารมีขั้นสูงสุด เช่น ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ การเสียสละชีวิตเพื่อรักษาไว้ซึ่งธรรม ความถูกต้องหรือประโยชน์ของคนหมูมากเป็นทาน

บารมี ๑๐ เรียงตามลำดับการบำเพ็ญในสิบพระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า คือ
๑. พระเตมีย์            บำเพ็ญ เนกขัมมบารมี
๒. พระมห่าชนก      บำเพ็ญ วิริยบารมี
๓. พระสถวรรณสาม บำเพ็ญ เมตตาบารมี
๔. พระเนมิราช        บำเพ็ญ อธิฏฐานบารมี
๕. พระมโหสถ         บำเพ็ญ ปัญญาบารมี
๖. พระภูริทัต           บำเพ็ญ สีลบารมี
๗. พระจันทกุมาร     บำเพ็ญ ขันติบารมี
๘. พระนารทะ          บำเพ็ญ อุเบกขาบารมี
๙. พระวิธุรบัณฑิต    บำเพ็ญ สัจจบารมี
๑๐. พระเวสสันดร     บำเพ็ญ ทานบารมี

กรรม  ๑๒

ให้ผลตามคราว
หมวดที่ 
๑.  ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม               กรรมให้ผลในภพนี้
๒.  อุปปัชชเวทนียกรรม                  กรรมให้ผลต่อเมื่อเกิดแล้วในภพหน้า
๓.  อปราปรเวทนียกรรม                 กรรมให้ผลในภพสืบ ๆ
๔.  อโหสิกรรม                             กรรมให้ผลสำเร็จแล้ว

หมวดที่ 
ให้ผลตามกิจ
๕.  ชนกกรรม                              กรรมแต่งให้เกิด
๖.  อุปัตถัมภกกรรม                       กรรมสนับสนุน
๗.  อุปปีฬกกรรม                          กรรมบีบคั้น
๘.  อุปฆาตกกรรม                         กรรมตัดรอน

หมวดที่ 
ให้ผลตามลำดับ
๙.  ครุกรรม                                 กรรมหนัก
๑๐.  พหุลกรรม                            กรรมชิน
๑๑.  อาสันนกรรม                         กรรมเมื่อจวนเจียน
๑๒.  กตัตตากรรม                         กรรมสักว่าทำ
                                                                            
       อธิบายกรรม  ๑๒
       หมวดที่    แสดงเวลาที่กรรมให้ผลว่า  กรรมที่ทำแล้วเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม  ย่อมให้ผลดังนี้คือ  กรรมบางอย่างให้ผลในชาตินี้  เช่น  พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ  กรรมบางอย่างให้ผลในชาติหน้า  เช่นพระเทวทัตไปเกิดในนรกอเวจี.  กรรมบางอย่างให้ผลในภพต่อ ๆ  ไปไม่มีกำหนด  เช่นพระพาหิยะ  ถูกแม่โคขวิดนิพพาน.  (ตาย)  กรรมบางอย่างไม่มีโอกาสให้ผล  เพราะถูกกรรมอื่นที่แรงกว่าทำลาย  เช่น  พระองคุลิมาล  แม้จะฆ่าคนไว้มาก  แต่ได้บรรลุพระอรหัตผลนิพพานไปเสียก่อนจึงไม่ต้องไปตกนรก
         หมวดที่    แสดงหน้าที่ของกรรมว่า  กรรมที่ทำแล้วมีหน้าที่  อย่างนี้คือ    นำให้ไปเกิดในภพใหม่  เช่นเกิดเป็นมนุษย์  เทวดา  เป็นต้น  ๒.  ให้การสนับสนุนกรรมอื่นที่เป็นฝ่ายเดียวกัน  เช่น  คนที่มีบุพเพกตปุญตา  ก็จะสนับสนุนความพากเพียรพยายามในปัจจุบันนี้ให้ได้รับความสำเร็จในกิจการที่ทำ  ๓.  เบียดเบียนกรรมที่ตรงกันข้าม  เช่นคนที่ทำปาณาติบาต  เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วมีโรคมาก  มีอุปสรรคมากเป็นต้น  ๔.  ตัดรอนหรือทำลายกรรมที่ตรงกันข้าม  เช่นนันทมานพไปข่มขืนพระอุบลวัณณาเถรี  แล้วถูกแผ่นดินสูบ  ความจริงนันทมานพนั้นยังหนุ่มอยู่ยังไม่ถึงอายุขัย  แต่กรรมที่เขาทำนั้นหนักมาก  ไปทำลายกุศลกรรมที่รักษาชีวิตของเขา  จึงต้องตาย
         หมวดที่  ๓.  แสดงลำดับของกรรมที่ให้ผล  คือ  กรรมหนัก ย่อมให้ผลก่อน  เช่นพระเทวทัตได้ทำอนันตริยกรรม  คือทำพระโลหิตพระศาสดาให้ห้อขึ้น  และทำสังฆเภท  แต่เมื่อถูกแผ่นดินสูบถึงกระดูกคาง  ได้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ อนันตริยกรรมหนักกว่า  การถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ  ฉะนั้น พระเทวทัตจึงต้องตกนรกอเวจีก่อน  ต่อจากนั้นจึงจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยกุศลกรรมที่ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ  ถ้าไม่มีกรรมหนัก  กรรมที่ทำบ่อย ๆ  จนเคยชินย่อมให้ผลเหมือนนายโคฆาตคนหนึ่ง  ฆ่าโคมา  ๔๕  ปี  ครั้นใกล้ตายเขาคลานไปมาร้องเหมือนโค  ตายไปตกนรก  เมื่อไม่มีกรรมเคยชิน  กรรมที่ทำ  เมื่อเวลาใกล้ตายย่อมให้ผล  เหมือนบุรุษเข็ญใจคนหนึ่งนั่งดูสุนัขของเศรษฐีกินอาหาร  เขาเกิดความคิดว่าเป็นหมาเศรษฐี  ยังดีกว่าเขาผู้เป็นมนุษย์เสียอีก.  หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง  เขาตายไปเกิดในท้องแห่งสุนัขตัวนั้นเพราะกรรมคือมโนกรรมอันเป็นอกุศลที่เขาคิดเมื่อใกล้จะตาย  เมื่อกรรมที่ทำใกล้ตายไม่มี แม้กรรมที่ทำโดยไม่มีเจตนา  ก็ให้ผลได้  เช่น  คนที่ทำอะไรโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียของ  หรือเสียชีวิต  ก็จะถูกคนอื่นทำตนเองให้เสียของ  หรือเสียชีวิตโดยไม่ได้ตั้งใจได้เช่นเดียวกัน



๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙
เลือกอ่าน ธรรมศึกษาชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก
ตามลิงค์ด้านล่าง
ธรรมศึกษาชั้นตรี
ธรรมศึกษาชั้นโท
ธรรมศึกษาชั้นเอก
๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น